ชื่อศรีปราชญ์ ไม่ปรากฏว่าเป็นราชทินนาม เพียงมีการอ้างถึงอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัดในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุว่าศรีปราชญ์เป็นกวีในรัชกาลพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) และ “เปนนักปราชญ์ช่างทำคำกาพย์โคลงฉันท์ก็ดีนัก” ทั้ง “ฉลาดในทางโหราศาสตร์และพระไตรปิฎก ชำนาญในทางแต่งกาพย์โคลงบทกลอนทั้งปวง...” คำให้การทั้งสองฉบับให้ข้อมูลเชิงประวัติไว้เพียงคร่าว ๆ ว่าศรีปราชญ์สิ้นชีวิตในรัชกาลพระเจ้าเสือนั่นเอง ด้วยเหตุที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราชสั่งประหารเนื่องจากระแวงว่าศรีปราชญ์มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับภริยาน้อย แต่คำให้การข้างต้นทั้งสองฉบับมิได้ระบุถึงผลงานของศรีปราชญ์ไว้แต่อย่างใด
ผู้ที่ทำให้เกิดแนวความคิดที่ว่าศรีปราชญ์คือกวีผู้แต่งโคลงกำสรวล* และอนิรุทธิ์คำฉันท์* กับทั้งโคลงกวีโบราณ* ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งอีกหลายบทนั้น ได้แก่ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาลลักษมณ์) ได้แต่งตำนานศรีปราชญ์ขึ้นประมาณ พ.ศ. 2470
ตำนานศรีปราชญ์ทำให้เกิดข้อสงสัยและปัญหาขึ้นในวงวิชาการวรรณคดีหลายข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ศรีปราชญ์มีตัวจริงหรือไม่ ถ้ามีตัวจริงมีกี่คน เกิดและตายในรัชกาลใดแน่ ความแคลงใจในข้อนี้ เกิดจากการที่ประวัติศรีปราชญ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับตำนานประวัติกวีพม่าอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งอยู่ที่ตำนานและคำให้การทั้งสองฉบับระบุเวลาไม่ตรงกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในคำนำอนิรุทธ์คำฉันท์* กล่าวกันว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรของพระมหาราชครู แต่บางหลักฐานกล่าวว่าศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดีซึ่งไม่ชัดเจนว่าเป็นคนเดียวกับพระโหราธิบดีทายหนูหรือไม่ ส่วนศรีจุฬาลักษณ์ในโคลงกำสรวล* นั้น มีจดหมายเหตุฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่าเป็นพระขนิษฐาของสมเด็จพระเพทราชา
2. ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งโคลงกำสรวล* และอนิรุทธ์คำฉันท์* จริงหรือ น่าสังเกตว่าในโคลงกำสรวล* นั้น ผู้แต่งออกชื่อตนเองว่าศรี และออกชื่อนางที่รักว่า (บา) ศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งพระสนม แต่เนื้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์อย่างเปิดเผย แสดงว่าผู้แต่งมีศักดิ์สูงมิใช่นักโทษเนรเทศประการหนึ่ง แต่คำว่าศรีจุฬาลักษณ์นั้น ยังปรากฏอยู่ในวรรณคดีโคลงดั้นอีกเรื่องหนึ่ง คือทวาทศมาส* ซึ่งภาษาโวหารใกล้เคียงทัดเทียมกับโคลงกำสรวล* จึงน่าจะอยู่ในสมัยเดียวกัน
จากปัญหาและข้อสงสัยข้างต้น ประวัติของศรีปราชญ์จึงยังไม่เป็นที่ยุติ
จันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี, มจ. กำสรวลศรีปราชญ์ นิราศนรินทร์ : ประชุมวรรณคดีวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องลิลิตพระลอและกำสรวลศรีปราชญ์. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2502.
สุมาลี กียะกูล, รท.หญิง. สมุทรโฆษคำฉันท์ภาคที่แต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา: การวิเคราะห์และวิจารณ์เชิงประวัติ. วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.