รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เกิด
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347
เสียชีวิต
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2411
ประวัติ
เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
เมื่อทรงพระเยาว์ ขณะประทับที่พระราชวังเดิม ทรงเริ่มศึกษาในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จเข้ามาประทับในพระบรมมหาราชวังพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี ต่อมาพ.ศ. 2355 พระชนมพรรษา 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีลงสรง เฉลิมพระนามตามโบราณราชประเพณี ครั้นพระชนมพรรษา 12 พรรษา ทรงได้รับมอบหมายให้คุมกองทัพและเสบียงอาหาร ออกไปรับครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี
พ.ศ. 2359 พระชนมพรรษา 13 พรรษา โปรดให้มีพระราชพิธีโสกันต์ครั้งใหญ่ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเมื่อพระชนมพรรษา 14 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร แล้วประทับจำพรรษา ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ทรงบรรพชาอยู่ 7 เดือนจึงลาพระผนวช หลังจากนั้นเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ สำหรับพระราชกุมาร เช่น การฝึกหัดอาวุธ และวิชาคชศาสตร์ สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดให้บัญชาการกรมมหาดเล็ก
พ.ศ. 2367 พระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระนามฉายาว่า “วชิรญาโณ” เสด็จไปประทับแรมที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 3 วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดราชาธิวาส ได้ 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ได้อัญเชิญพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยทรงเจริญพระชนมพรรษามากกว่าถึง 17 พรรษา และทรงมีประสบการณ์มากทั้งด้านการค้า การสงคราม และการปกครอง
ขณะทรงผนวชอยู่นั้น ทรงศึกษาภาษาบาลี พระปริยัติธรรม ทรงสอบได้เปรียญ 5 ประโยค และเชี่ยวชาญรอบรู้พระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเมื่อพ.ศ. 2372 ต่อมาทรงจัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นใหม่เรียกว่า “ธรรมยุติกนิกาย”
พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาให้มาครองวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามแห่งใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ทรงจัดระเบียบการคณะสงฆ์ การปกครองวัด ตลอดจนอบรมฝ่ายฆราวาสที่เข้าวัด ระเบียบที่สำคัญทั้งหลายเหล่านี้ได้ยึดถือปฏิบัติสืบมาจนปัจจุบัน ทรงคิดตัวอักษรอริยกะเพื่อใช้พิมพ์ตำราภาษาบาลี ทรงตั้งโรงพิมพ์ของคนไทยขึ้นแห่งแรกที่วัดบวรนิเวศวิหาร และโปรดให้ตีพิมพ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาขึ้นหลายเล่ม
ในระหว่างที่ทรงผนวช ทรงศึกษาภาษาละตินกับสังฆราชปาลเลอกัวซ์ และภาษาอังกฤษจากดร. บรัดเลย์ ดร. เรโนลด์ เฮ้าส์ และมิสเตอรแคสเวล เป็นผลให้ทรงศึกษาวิทยาการความก้าวหน้าของตะวันตกหลายแขนง อาทิ วิชาภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์ จนทรงรอบรู้อย่างแตกฉาน
นอกจากนั้น ยังได้เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ทอดพระเนตรสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร ทำให้ทรงพบศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์ จึงทรงลาผนวช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2393
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาวิทยาการของประเทศตะวันตก ทรงนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างอเนกอนันต์และสามารถธำรงเอกราชไว้ได้ตราบจนทุกวันนี้
ผลงาน / งานประพันธ์
พระราชนิพนธ์ภาษาบาลี
1. คาถาตำนานพระแก้วมรกต
2. ตำนานพระสายน์ วัดปทุมวัน
3. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์สังเขป
4. วิสาขปูชาคาถาและอัฏฐมรปูชาคาถา
5. ศิลาจารึกวัดราชประดิษฐ์
6. คาถาพระราชทานพระนามพระโอรสธิดา 42 พระองค์
7. พระสมณศาสน พระราชทานไปยังลังกาและยะไข่ 9 ฉบับ
พระราชนิพนธ์ภาษาไทย
1. พระราชหัตถเลขาระหว่าง พ.ศ. 2394 – 2411 จำนวน 140 ฉบับ ตัวอย่างประกาศที่น่าสนใจ เช่น
พระราชหัตถเลขาองค์พระนโรดม ณ กรุงกัมพูชา
พระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชหัตถเลขาทรงขมาพระสงฆ์เมื่อจะสวรรคต
2. ประกาศระหว่าง พ.ศ. 2394 – 2411 จำนวน 343 ฉบับ ตัวอย่างประกาศที่น่าสนใจ เช่น
ประกาศเตือนผู้ใช้อักษรผิด
ประกาศห้ามไม่ให้กระบวนแห่ตีสุนัขให้ไล่ไปเสียให้พ้น แลอย่าให้มีตุ๊กแกในอุโบสถหรือที่ประทับ(พ.ศ. 2411)
เรื่องพระรับผ้าหลวงไปแล้วไม่ครองฉลองพระราชศรัทธา
3. พระบรมราชาธิบาย
สังขิตโตวาท
ความเชื่อในพระพุทธศาสนา
พระบรมราชาธิบายเรื่องอธิกมาส อธิกวาร และปักขคณนาวิธี
พระบรมราชาธิบายเรื่องสงกรานต์พระอาทิตย์เดินปัดเหนือปัดใต้
พระบรมราชาธิบายเรื่องชื่อสงกรานต์
พระบรมราชาธิบายเรื่องดาวหาง
พระบรมราชาธิบายเรื่องหมอดูชะตาราศีและทำวิทยาต่างๆ
เรื่องพัชวาลวิชนี
นานาธรรมวิจารินี
4. พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วและร้อยกรอง
พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ตอนพระรามเดินดง*
มหาชาติกัณฑ์วนปเวสน์ จุลพน มหาพน สักกบรรพ และฉกษัตริย์
บทละครเบ็ดเตล็ดเรื่องรามเกียรติ์*
5. พระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ด
มนต์ปราบเสนียด
ยัญอริยสัจจ์ของโบราณ
คำจารึกหม้อน้ำมนต์ศิลา
พระราชปุจฉาว่าด้วยนะโม
ตำรากลับชะตา
เรื่องทรงคัดค้านข้อความบางข้อในพระคัมภีร์ไบเบิล
พระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษ
พระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษ 4 ฉบับระหว่าง พ.ศ. 2391 – 2398 ถึงนายเอ็ดดี้และภรรยาที่สหรัฐอเมริกา 3 ฉบับ กับเซอร์ ยอน เบาริง ที่ประเทศอังกฤษ 1 ฉบับ รวม จำนวน 4 ฉบับ
ผู้เรียบเรียง
สยาม ภัทรานุประวัติ, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
ข้อมูลประวัติศาสตร์บางเรื่องในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : เอราวัณการพิมพ์, 2532. (พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงสุคนธ์ ศัลยเวทยวิศิษฏ์ (สุคนธ์ คชเสนี) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 29 มีนาคม 2532)
ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4. พระนคร : คุรุสภา, 2504.
ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาไทยในรัชกาลที่ 4 ภาค 2. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2512. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นางแจ่มวิชาสอน (ผิน นิยมเหตุ) ณ เมรุวัดสังข์กระจาย ธนบุรี วันที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2512)
ประชุมพระราชนิพนธ์ภาษาบาลีในรัชกาลที่ 4 ภาค 2. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2515. (คณะธรรมยุต พิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศล ในงานพระเมรุพระศพ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฺฐายี) ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 17 มิถุนายน พุทธศักราช 2515)
ประชุมพระนิพนธ์เกี่ยวกับตำนานทางพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2514 (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ณ ฌาปนกิจสถานวัดพระพิเรนทร์ วันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2514.
ประชุมพระราชปุจฉา ภาคปกิรณกะ. พระนคร : โรงพิมพ์ดำรงธรรม, 2508. (คณะสงฆ์จังหวัดธนบุรีพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถระ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 20 พฤศจิกายน 2508.
มหาชาติพระนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 . พระนคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2508. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์, ท.จ.ว., ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2508)
ศิลปากร, กรม. บรรณานุกรมและสาระสังเขปพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ, 2548. (คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสวันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี พุทธศักราช 2547)
คำสำคัญ