รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เกิด
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2403
เสียชีวิต
วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2458
ประวัติ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ พระนามเดิม พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหุ่น (ภายหลังทรงสถาปนาเป็น ท้าวทรงกันดาล) เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2403 ในพระบรมมหาราชวัง
พระชันษาได้ 5 ปี ทรงศึกษาหนังสือไทยในพระบรมมหาราชวังในสำนักหม่อมเจ้าจอมในกรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ทรงศึกษาภาษามคธในสำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และสำนักขุนปรีชา- นุสาสน์ (โต เปรียญ) และศึกษาภาษาอังกฤษในสำนักมิสเตอร์ยอร์ช แปตเตอร์สัน ในโรงเรียนหลวง ครั้นพ.ศ. 2415 พระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โสกันต์แล้ว ถึง พ.ศ. 2416 ได้ทรงผนวชสามเณรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารในสำนักสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 2 พรรษา ทรงฝึกหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์จุลพนกับพระมหาราชครูมหิธร (ชู) ครั้นลาผนวชแล้ว เสด็จมาประทับอยู่ที่วังกรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ณ ตำบลสำราญราษฎร์ เมื่อทรงสร้างวังตรงถนนบำรุงเมืองเสร็จแล้ว จึงเสด็จมาประทับตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯ ให้ทรงรับตำแหน่งหัวหน้าราชเลขานุการอยู่ในออฟฟิศหลวง ทรงเป็นนายด้านบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงทำศาลารายขึ้นใหม่บ้าง ซ่อมแซมที่ชำรุดและทำค้างมาบ้างทั่วทั้งพระอาราม ซ่อมลายปั้นผนังและช่อฟ้าใบระกาหลังคาพระอุโบสถซึ่งซ่อมค้างและชำรุดให้สมบูรณ์ ซ่อมการปั้นและเขียนสีลงรักปิดทองภายนอกพระอุโบสถและประดับศิลาฐานชุกชีพระอุโบสถทั้งหมด
เมื่อพ.ศ. 2424 ทรงอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับอยู่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตลอดพรรษา แล้วทรงลาผนวชเข้ารับราชการต่อไป
พ.ศ. 2428 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงรับราชการในตำแหน่งปลัดบัญชีกลาง กระทรวงพระคลังมหาสมบัติอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ภายหลังทรงลาออกจากตำแหน่งปลัดบัญชีกลาง คงรับราชการในหน้าที่ราชเลขานุการเพียงตำแหน่งเดียว
พ.ศ. 2429 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ครั้นทรงกรมแล้วต่อมาใน พ.ศ. 2430 ได้ทรงเป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกำกับการโรงเรียนราชกุมารและโรงเรียนราชกุมารี ทรงเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชานักเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ในพ.ศ. 2435 ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการได้เดือนหนึ่ง แล้วโปรดให้เป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่ ภายหลังทรงลาออกคงรับราชการเพียงตำแหน่งราชเลขานุการเพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ยังทรงมีตำแหน่งพิเศษอื่นๆ อีกเช่น ตำแหน่งลัญจกราภิบาลของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์และช้างเผือก มัคนายกวัดเทพธิดาราม กรรมการมหามกุฎราชวิทยาลัย กรรมการรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม รัฐมนตรี ทรงปฏิบัติราชการแทนเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร และเสนาบดีกระทรวงวัง ทรงเป็นกรรมสัมปาทิกและสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ โดยทรงเป็นตำแหน่งเหรัญญิก และเป็นสภานายก 2 ครั้ง คือในพ.ศ. 2430 และพ.ศ. 2436 สภานายกหอพุทธสาสนะสังคหะ สภานายกหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร พ.ศ. 2453 – 2457 รวม 5 ปี ทรงเป็นสมาชิกโบราณคดีสโมสรตั้งแต่แรกตั้ง ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสในประเทศ และต่างประเทศ
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
2. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงประกอบรูปที่ 14 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ภาพคล้องได้ช้างเผือกแม่ลูก
โคลงประกอบรูปที่ 35 แผ่นดินสมัยสมเด็จพระนเรศวร ภาพเสด็จเลียบเมืองละแวก
3. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ห้องที่ 81 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่นางมณโฑและนางสุวรรณกันยุมาครวญถึงอินทรชิตจนถึงทศกัณฐ์ตั้งทัพ
4. วชิรญาณสุภาษิต
5. ประกาศการพระราชพิธี
6. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ (ทรงพระนิพนธ์ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
7. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์
8. จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์
9. สาตรวิทยา ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
10. เรื่องวงศ์วงศ์จักรจักร
11. ทรงรับเวรเรียบเรียงพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ. 2418 – 2419 ลงพิมพ์ในหนังสือ Court ข่าวราชการ
12. ว่าด้วยลักษณเสมียนเขียนหนังสือ
13. โคลงความกระวนกระวาย ในโคลงว่าด้วยของสิ่งเดียว ภายหลังรวมพิมพ์ใหม่ใช้ชื่อว่า โคลงพิพิธพากย์
14. ว่าด้วยเรื่องบวชนาค
15. เรื่องแปรธาตุและฆ่าปรอท
16. คำอธิบายชื่อเดือนอย่างใหม่
17. เรื่องพระราชสาส์นไปลังกา
18. ว่าด้วยคนชาติกะเหรี่ยงแขวงเมืองไทรโยค
19. คุณศัพท์ที่รู้สึกเป็นชั้นๆ
20. ลายลักษณ์พระบาท
21. เรื่องอูฐ
22. จำนวนเลขที่ขันๆ
23. เล่าเรื่องเมืองฝรั่ง
24. ปัญหาเจือด้วยกระบวนคิดเลข
25. อายุไขยของสัตว์เดียรฉาน
26. เข้าไปในที่ว่าการ
27. เที่ยวทะเลตะวันออก
28. ทรงแก้ปัญหาศัพท์วินิจฉัย
บทที่ 53 น่าโฉนด
บทที่ 62 แกล้ง
บทที่ 63 แค่น
บทที่66 รังแก
บทที่ 68 จ้ำจี้
บทที่ 69 แข่ง
บทที่ 102 ค้าน
บทที่ 103 สาว
29. คำนำ ในหนังสือต่างๆ ที่จัดพิมพ์โดยหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร และ หอพุทธสาสนะสังคหะ ระหว่างพ.ศ. 2447 – 2457
ผู้เรียบเรียง
บุหลง ศรีกนก, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทาน ในการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538)
ศรีวรวงศ์, พระยา (ม.ร.ว. จิตร สุทัศน์ ณกรุงเทพ). พระประวัติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ (พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ) . กรุงเทพฯ : ม.ป.ท., 2459. (ข้าราชการกรมราชเลขานุการ พิมพ์แจกในงารพระราชทานเพลิงพระศพ ที่พระเมรุวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. 2459)
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พล.ต. ม.ร.ว. และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2549.
คำสำคัญ