รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรทัตจุธาธาร
เกิด
วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2403
เสียชีวิต
วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2475
ประวัติ
เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด พระสนมโท เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาหนังสือไทยในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษณา และทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับครูแปตเตอสัน ครั้นพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ เมื่อพ.ศ. 2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีโสกันต์ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ครั้งยังดำรงพระยศพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ครั้งยังดำรงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ครั้งดำรงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ ถึงพ.ศ. 2416 ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงศึกษาภาษามคธในสำนักพระปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) ทรงหัดเทศน์มหาชาติกัณฑ์มหาพนในสำนักพระมหาราชครูมหิธร (ชู) ทรงผนวชอยู่ 3 พรรษา ในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่นี้มีพวกพม่าเข้ามาเล่นกล หัวหน้าพวกเล่นกลคนหนึ่งมาพักอยู่ที่กุฎีที่ประทับ เป็นเหตุให้ได้ทรงศึกษาภาษาพม่าด้วย จนมีพระนามรู้จักออกไปถึงเมืองพม่า พวกพม่าที่เข้ามากรุงเทพฯ มักพากันไปเฝ้า เมื่อทรงลาสิกขาจากสามเณรแล้วประมาณ 2 ปี กลับทรงศึกษาภาษาอังกฤษอีกโดยทรงศึกษากับครูแรมสมี (บาบูรามสมี)
ถึงพ.ศ. 2423 พระชันษาย่างเข้า 21 ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นผู้ช่วยแผนกต่างประเทศ กรมราชเลขานุการ และทรงผนวชในปีนี้ ทรงผนวชอยู่พรรษาหนึ่ง เมื่อลาสิกขาแล้วเสด็จกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งอื่นโดยลำดับ
พ.ศ. 2430 เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ พอพระทัยทรงศึกษาภาษามลายู ได้ทรงซื้อแบบเรียนภาษามลายูอังกฤษเข้ามาทรงศึกษาและทรงจ้างแขกชวามาเป็นคนรับใช้ที่วัง โดยทรงศึกษาภาษาจากแชกชวานั้น จนทรงทราบภาษามลายูอีกภาษาหนึ่ง
จนถึง พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา
งานราชการอื่นที่ทรงได้รับมอบหมายได้แก่ ทรงเป็นปรีวีเคาน์ซิลลอร์ หรือที่ปรึกษในพระองค์ ทรงเป็นมัคนายกวัดสระเกศ ทรงนำพระกฐินไปพระราชทาน ณ วัดต่างๆ เช่น วัดเวฬุราชิน วัดโชตนาราม วัดตรีทศเทพ วัดทองธรรมชาติ เป็นต้น
ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ทรงรับตำแหน่งผู้พิพากษาเมื่อพ.ศ. 2456 ต่อมาได้ทรงเป็นผู้แปลกฎหมายต่างประเทศ และทรงเป็นกรรมการตรวจกฎหมายภาษาไทย จนถึงพ.ศ. 2468 เสด็จออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ
กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ประชวรพระโรคปับผาสะ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2475 พระชันษา 72 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลจันทรทัต มีหม่อมเจ้าชาย 9 องค์ หม่อมเจ้าหญิง 4 องค์ สิ้นชีพิตักษัยในครรภ์ 2 องค์ รวม 15 องค์
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร*
โคลงประกอบรูปที่ 51 แผ่นดินสมเด็จพระนารายน์มหาราช ภาพจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จำนวน 4 บท
2. ภูมิสาตร ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
3. โคลงความท้อใจ จำนวน 6 บท ในโคลงว่าด้วยของสิ่งเดียว ต่อมารวมพิมพ์เป็นเล่มใช้ชื่อว่าโคลงพิพิธพากย์
4. โคลงศัพท์หย่อนตึง จำนวน 6 บท ในโคลงว่าด้วยของสองสิ่ง ต่อมารวมพิมพ์เป็นเล่มใช้ชื่อว่าโคลงอุภัยพากย์
5. เรื่องสัตว์เลี้ยง
ผู้เรียบเรียง
บุหลง ศรีกนก, พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. คาถาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามพระราชโอรสธิดา. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2472. (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร โปรดให้พิมพ์ในงานฉลองพระชันษาสมายุมงคลเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2472)
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. ทำเนียบผู้บริหารหอพระสมุดวชิรญาณและเจ้าหน้าที่ พุทธศักราช 2428 – 2476. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543.
วิวิธวรรณปรีชา, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่น. แก่นไตรภพ เพ็ชร์ในหิน วิวิธธัมโมทัย มฤตยูกถา หรือ มรณานุสสร. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2475. (เจ้าภาพพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชา ที่พระเมรุวัดเทพสิรินทราวาส ณวันพฤหัศบดีที่ 16 มีนาคม พุทธศักราช 2475)
เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์พระราชทาน ในการพระราชพิธีสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2538)
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พล.ต. ม.ร.ว. และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2549.
คำสำคัญ