รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
เกิด
เสียชีวิต
ประวัติ
เป็นบุตรพระศรีราชสงครามรามภักดี (เยาว์) ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช (บุตรเจ้าพระยาสุรินทราชา) กับหม่อมแจ่มบุตรีของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) และเป็นพระญาติสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย
พระยาตรังได้เดินทางเข้ามารับราชการที่กรุงเทพฯ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อาศัยอยู่กับน้าสาวคือเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณตามเสด็จทัพออกทำสงคราม พระยาตรังเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาตรังไปเป็นเจ้าเมืองตรังและคงจะเป็นเจ้าเมืองตรังที่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคนแรก เพราะก่อนหน้านั้นเจ้าเมืองตรังมีบรรดาศักดิ์เป็นชั้นหลวงเท่านั้น พระยาตรังเคยตามสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพยตีเอาเมืองต่างๆ กลับคืนจากพม่ามาได้ทั้งหมด ภายหลังได้กลับเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นเมืองตรังก็กลับไปเป็นเมืองขึ้นเมืองนครฯ
พระยาตรังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการประพันธ์ โคลงและกลอนที่พระยาตรังแต่งตั้งแต่ในรัชกาลที่ 1 มาจนถึงรัชกาลที่ 3 ปรากฏอยู่หลายเรื่อง แต่ถนัดแต่งโคลงดั้นมากกว่าบทกลอนอย่างอื่น สำนวนโคลงของพระยาตรังนั้นเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “โวหารกล้า” ผิดกับกวีคนอื่น ๆ กล่าวกันว่าเป็นผู้มีจิตความคิดเฟื่อง มีเรื่องเล่ากันมาว่า พระยาตรังมีมนต์สำหรับเสกก่อนจะลงมือแต่งกลอนทุกครั้ง ขึ้นต้นว่า “ตรังเอ๋ยตรัง เทวดานิมนต์เกิด” สำนวนโคลงกลอนที่พระยาตรังแต่งนับว่าดีจริง ดังนั้นจึงนับถือกันในหมู่กวีรุ่นก่อน
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงนิราศถลาง*หรือโคลงนิราศพระยาตรัง*
2. โคลงดั้นนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย*
3. โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย*
4. เพลงยาวพระยาตรัง*
5. เพลงยาวนมัสการพระบรมธาตุ นิราศไปตรัง*
6. มหาชาติกัณฑ์มัทรี 1 กัณฑ์
7. โคลงกวีโบราณ* (รวบรวมจากโคลงเบ็ดเตล็ดสมัยอยุธยารวมเข้ากับโคลงเบ็ดเตล็ดที่พระยาตรังแต่ง)
8. โคลงกระทู้ของเก่าบางบท
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ตรัง, พระยา. โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย. พระนคร : พิพรรฒธนากร, 2471. (แจกในการพระกฐินพระราชทานพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ณ วัดเทพศิรินทราวาศ พระพุทธศักราช 2471)
________. วรรณคดีพระยาตรัง. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2515.
ประพัฒน์ ตรีณรงค์ และสงวน อั้นคง. สารานุกรมวรรณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ก้าวหน้า, 2516.
ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา. “พระยาตรัง.” ใน ศักดิ์ศรีนิพนธ์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2517.
คำสำคัญ