รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
จมื่นทิพยเสนา, เจริญ เศวตนันทน์
เกิด
วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2393
เสียชีวิต
วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2466
ประวัติ
จมื่นทิพยเสนา นามเดิม เจริญ เศวตนันทน์ เป็นบุตรพระยามหานิเวศนานุรักษ์(เผือก) กับคุณหญิงบุนนาค เมื่อยังเยาว์ได้ศึกษาอักขรวิธีตามแบบสมัยนิยมที่วัดพระยาธรรม นายเจริญได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเจริญเป็นมหาดเล็กรายงาน และได้เป็นมหาดเล็กกำกับศาลกระทรวงวัง ศาลกระทรวงเมือง และศาลต่างประเทศ จนถึง พ.ศ. 2415 จึงได้เป็นจ่าแผลงฤทธิรอนราน รับราชการในกรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย
ต่อมาได้รับพระราชทานราชทินนามใหม่ให้เป็นจ่าชำนาญทั่วด้าว และในพ.ศ. 2420 เป็นจมื่นทิพยเสนา ปลัดกรมพระตำรวจในขวา
ในพ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นทิพยเสนาเป็นพระอินทราภิบาล เจ้ากรมพระตำรวจในซ้ายฝ่ายพระราชวังบวร แล้วให้ไปสืบราชการทัพฮ่อที่เมืองหลวงพระบาง และเป็นผู้แทนพระองค์ไปชำระความอั้งยี่ที่เมืองพระตะบองและเสียมราฐด้วย
ใน พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระอินทราภิบาลเป็นพระอินทรเดช แล้วให้ ไปชำระความผู้ร้ายในเมืองอ่างทอง เมืองพรหมบุรี เมืองอินทรบุรี เมืองชัยนาท กรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) และเมืองสระบุรี
ในพ.ศ. 2437 ได้เป็นพระยาพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย และดำรงตำแหน่งองคมนตรี แล้วได้ไปชำระความในหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดจนชำระความคดีสำคัญ ๆ ในพระนคร
พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยามหามนตรีศรีองครักษสมุห เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา และโปรดให้รับผิดชอบงานสร้างพระเมรุท้องสนามหลวง และงานพิธีสำคัญในพระนคร
ต่อมาพ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาอภิชิตชาญยุทธ ตำแหน่งจางวางกรมพระตำรวจ มียศเป็นพระตำรวจตรี และดำรงตำแหน่งองคมนตรี
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร*
โคลงประกอบรูปที่ 31 แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาพทูตเชียงใหม่เฝ้าถวายราชบรรณาการ (แต่งขณะเป็นจ่าชำนาญทั่วด้าว)
2. โคลงความแข็ง ในวชิรญาณวิเศษ เล่ม 4 (ภายหลังรวมไว้ในโคลงพิพิธพากย์) (แต่งขณะเป็นจ่าชำนาญทั่วด้าว)
3. โคลงศัพท์เหลือขาด ในวชิรญาณวิเศษ เล่ม 5 (ภายหลังรวมไว้ในโคลงอุภัยพากย์) (แต่งขณะเป็นจ่าชำนาญทั่วด้าว)
4. โคลงเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระรัษฎาธิราช ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน* (แต่งขณะเป็นพระอินทรเดช)
5. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม*
ห้องที่ 23 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่เสนายักษ์ทูลพญาทูตให้รบจนพระรามสังหารตรีเศียร (แต่งขณะเป็นจมื่นทิพยเสนา)
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2521.
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาคที่ 19 พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร : สุทธิสารการพิมพ์, 2513.(พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายถม สังข์กังวาล ณ เมรุวัดหัวลำโพง พระนคร วันที่ 12 มกราคม พุทธศักราช 2513)
ดำรงราชานุภาพ, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องสนทนากับผู้ร้ายปล้น. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2468. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระตำรวจตรี พระยาอภิชิตชาญยุทธ (เจริญ เศวตนันทน์) เมื่อปีฉลู พ.ศ. 2468)
ราชกิจจานุเบกษา จ.ศ. 1248 เล่ม 3.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 110 เล่ม 8.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 113 เล่ม 11.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 119 เล่ม 17.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 129 เล่ม 40.
คำสำคัญ