รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
เกิด
วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 240
เสียชีวิต
วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2466
ประวัติ
พระนามเดิม พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอก (ภายหลังทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา) พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงศึกษาวิชาการแผนใหม่ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้ ทรงเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในพระบรมมหาราชวัง และสนพระทัยภาษาอังกฤษตลอดมา ทำให้ทรงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษแม้มิได้เสด็จไปทรงศึกษาในต่างประเทศ
พ.ศ. 2424 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ต่อมาพ.ศ. 2429 เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ
ต่อมาในรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทวะวงศ์วโรปการ และในพ.ศ. 2459 เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ทรงเป็นราชเลขานุการหรือไปรเวตสิเกรตารีหลวง ทรงปฏิบัติหน้าที่ในกรมพระคลังมหาสมบัติ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีว่าการต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 และได้ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญอีกมาก เช่น สภานายกแห่งสภาการคลัง ทรงเป็นผู้รักษาราชการพระนครเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับในพระนคร ทรงเป็นนายกกรรมการตรวจแก้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรงเป็นสมุหมนตรี และนายกองตรีในกองเสือป่า เป็นต้น
สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการมิได้ทรงเชี่ยวชาญแต่เฉพาะภาษาอังกฤษและการดำเนินวิเทโศบายด้านการต่างประเทศเท่านั้น แต่ทรงรอบรู้วิชาภาษาไทยและวรรณคดีไทยด้วยดังจะเห็นได้จากพระนิพนธ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 ยังได้ทรงสนับสนุนการออกหนังสือ “ดรุโณวาท” ในพ.ศ. 2417 ได้ทรงร่วมมือกับเจ้านายรวม 11 พระองค์ ทรงช่วยกันทำหนังสือ COURT ข่าวราชการ ตีพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2418 – 2419 และยังทรงชำนาญการคำนวณปฏิทินโหราศาสตร์ ทรงคิดทำปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ เรียกว่า “เทวะประติทิน” ทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่พ.ศ. 2432 และได้ใช้เป็นปฏิทินหลวงมาจนปัจจุบันด้วย
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม*
ห้องที่ 63 – 64 รวมโคลง 56 บท เนื้อความตั้งแต่กุมภกรรณทำพิธีทดน้ำจนถึงกุมภกรรณล้ม
2. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร*
โคลงประกอบรูปที่ 13 แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ภาพช้างพลายศรีมงคล พลายมงคลทวีปอาละวาด
โคลงประกอบรูปที่ 58 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ภาพชลอพระนอนวัดป่าโมกข์
โคลงประกอบรูปที่ 73 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภาพปราบดาภิเศก
3. วชิรญาณสุภาษิต*
4 โหราสาตร ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
5. โคลงอนุทินฤาสมุดสำหรับจดหมายรายวัน
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ราชสกุลวงศ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). กรุงเทพฯ : จันวาณิชย์จำกัดแผนกพิมพ์, 2525. (พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์บุญรับ พินิจชนคดี วันที่ 30 มีนาคม 2525)
เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉบับมีพระรูป. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2538. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 6 รอบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2538)
วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ. กรุงเทพฯ : DMG BOOKS, 2547.
หนังสือ COURT ข่าวราชการ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539. (ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2539)
คำสำคัญ