ต้นตระกูลชื่อขุนเทียนวิเชียรหงษ์ เป็นขุนนางสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหน้าที่มารักษาป่ามังคุด ภายหลังจึงเรียกบริเวณป่ามังคุดนั้นตามชื่อขุนเทียนวิเชียรหงษ์ว่า “บางขุนเทียน”
บิดามารดาแยกทางกันตั้งแต่เทียนยังเล็ก เมื่ออายุ 5 ปี มารดาส่งมาอยู่กับป้าและลุงเขย ลุงเขยช่วยสอนวิชามวยปล้ำและการเขียนอักษรไทยเบื้องต้นให้ ครั้นอายุ 8 ปี เทียนไปอยู่ที่วัดพระเชตุพนกับมหาพุ่ม คณะพระราชมุนี (เอี่ยม) (เป็นสำนักเดียวกันกับที่ก.ศ.ร.กุหลาบ ศึกษาอยู่) ณ ที่นี้เทียนเรียนหนังสือไทยและหนังสือขอมจนสามารถอ่านได้ ต่อมามหาพุ่มลาสิกขาตอนเทียนอายุได้ 10 ปี เทียนยังคงอยู่กับมหาพุ่มและได้ติดตามอาจารย์เข้าไปในวังหลวงเสมอ ต่อมาเทียนได้ย้ายมาอยู่ที่วัดใหม่บางขุนเทียน เริ่มเรียนต่อยมวยไสยเวทวิทยาต่าง ๆ ในช่วงเวลานี้เทียนใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นอย่างไม่มีจุดหมายใด ๆ ในชีวิต จนมารดาแต่งงานใหม่ บิดาเลี้ยงเป็นคนดีจึงได้ช่วยอบรมสั่งสอนให้เทียนเป็นคนดีด้วย เมื่อเทียนอายุได้ 16 ปี ลุงญาติข้างมารดาซึ่งบวชเป็นพระอยู่ได้พ้นราชทัณฑ์ เทียนจึงมาอาศัยอยู่ด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลุงของเทียนมีสมณศักดิ์เป็นพระสาสนโสภณ (สา) ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระสังฆราช (สา) ครั้นอายุได้ 17 ปี เทียนบวชเป็นเณรอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร บวชได้ 13 เดือนก็ลาสิกขากลับไปอยู่กับมารดาและบิดาเลี้ยง เมื่ออายุได้ 19 ปี ก็ออกท่องเที่ยวผจญภัยไปทางเหนือนาน 15 เดือน จึงกลับมาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสาสนโสภณและพระจันทโคจะระคุณเป็นคู่สวด ในพ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นปีที่เปลี่ยนรัชกาล เทียนวรรณได้ออกจากประเทศสยามลงเรือไปกับฝรั่ง ได้ท่องเที่ยวไปในเอเชียและหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นเวลาหลายปี จึงมีโอกาสได้เห็นความเป็นไปในประเทศอื่น ๆ ได้พยายามแสวงหาความรู้และทำความเข้าใจกับสภาพสังคมของชาติต่าง ๆ ทั้งโดยประสบการณ์และการอ่านหนังสือ
ภายหลังเมื่อกลับจากต่างประเทศ เทียนวรรณได้ดำเนินกิจการค้าขายโดยค้าของป่าอยู่ที่จันทบุรี ต่อมาจึงเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เทียนวรรณแต่งกายแบบฝรั่งอย่างเต็มที่ แต่มิใช่เพราะหลงนิยมฝรั่งแต่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่า พ่อค้าซึ่งเป็นราษฎรสามัญก็สามารถแต่งกายอย่างชนชั้นสูงและข้าราชการได้ และจากอาชีพพ่อค้านี้เองทำให้เทียนวรรณได้รู้เห็นการฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการ เทียนวรรณคุ้นเคยสนิทสนมกับเจ้านายและขุนนางที่ดีหลายคน เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ขุนหลวงพระไกรสี (เปล่ง เวภาระ) ฯลฯ เทียนวรรณจึงได้รับความช่วยเหลือเกื้อกูลจากบุคคลเหล่านี้ทั้งในด้านการศึกษาและการเงินเสมอมา
ขณะดำเนินกิจการค้าขายอยู่ เทียนวรรณได้เป็นที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์อยู่ด้วยระยะหนึ่ง ต่อมาได้เปิดสำนักงานทนายความแห่งแรกของประเทศไทยที่สี่แยกคอกวัวชื่อ “ออฟฟิศอรรศนานุกูล” ตั้งตนเป็นทนายรับว่าความให้ประชาชนโดยทั่วไป จนกระทั่งทำให้ต้องประสบชะตากรรมติดคุกอยู่เกือบ 17 ปี เพราะเขียนฎีการ้องทุกข์ให้ราษฎรผู้หนึ่งโดยไม่ได้ขออนุญาตกระทรวงวังตามกฎหมายก่อน จึงมีความผิดฐานหมิ่นตราพระราชสีห์ ขณะอยู่ในที่คุมขัง เทียนวรรณได้ใช้เวลาว่างเขียนหนังสือ ภายหลังเมื่อพ้นโทษแล้วได้ออกหนังสือรายปักษ์ชื่อ “ตุลวิภาคพจนกิจ” ในพ.ศ. 2446 (เลิกล้มไปในพ.ศ. 2449)
เคยมีหลักฐานว่าเทียนวรรณได้กราบบังคมทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสมมตอมรพันธุ์ให้ทรงนำหนังสือ “ตุลวิภาคพจนกิจ” พร้อมกับหนังสือขอเข้ารับราชการที่เขียนด้วยลายมือของเทียนวรรณเอง ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ไม่ปรากฏว่ามีพระราชกระแสในเรื่องนี้แต่อย่างใด
ต่อมาในพ.ศ. 2451 เทียนวรรณได้ออกหนังสือรายเดือนชื่อ “ศิริพจนภาค” โดยมีจุดประสงค์จะให้คนรุ่นหลังรู้ว่า เทียนวรรณได้ต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ชาวสยามอย่างไรบ้าง เทียนวรรณเป็นนักเขียนอิสระ หนังสือตุลวิภาคพจนกิจและศิริพจนภาคนั้นเทียนวรรณเป็นทั้งผู้เขียน บรรณาธิการ ผู้จัดการ และผู้เผยแพร่