เป็นชาวเมืองพิจิตร ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์สมัยธนบุรี ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระอาลักษณ์ ในพ.ศ. 2314 ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพหลวงไปปราบเมืองพุทไธมาศ (ฮาเตียน) และกรุงกัมพูชา ต่อมาได้กราบถวายบังคมลาอุปสมบทที่วัดเจ้าขรัวหงส์ (วัดหงส์รัตนาราม) ซึ่งเป็นสำนักศึกษาปริยัติธรรมที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น ภิกษุพระอาลักษณ์เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่รัตนมุนี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระรัตนมุนีลาสิกขามารับราชการตำแหน่งพระอาลักษณ์ ในกรมพระอาลักษณ์ ด้วยทรงนับถือว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญแตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี ทั้งมีความรู้ในด้านพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง เมื่อครั้งที่โปรดให้พระราชาคณะแต่งไตรภูมิกถา*จบหนึ่ง และให้ราชบัณฑิตแต่งอีกจบหนึ่ง ได้ทอดพระเนตรความทั้งสองฉบับ แล้วทรงพระราชดำริว่าถ้อยคำสำนวนตลอดจนข้อความยังไม่แนบเนียนสมพระราชหฤทัย จึงโปรดให้พระอาลักษณ์ (แก้ว) ชำระเรียบเรียงขึ้นใหม่สำเร็จเป็นไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา* และเมื่อโปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก พระอาลักษณ์ก็ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายราชบัณฑิต
นอกจากงานทางด้านพุทธศาสนาแล้ว พระอาลักษณ์ยังมีส่วนร่วมในการชำระกฎหมายตราสามดวง ซึ่งชำระเมื่อพ.ศ. 2347 ด้วย ดังปรากฏนามอยู่ในบานแพนกกฎหมายตราสามดวง
พ.ศ. 2327 พระอาลักษณ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาธรรมปโรหิต เจ้ากรมพระอาลักษณ์ แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นพระยาธรรมปรีชา จางวางราชบัณฑิตในสมัยรัชกาลที่ 1
ตามประวัติไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับวันเกิดและวันสิ้นชีวิต สันนิษฐานกันว่าท่านอาจถึงแก่อนิจกรรมในปลายสมัยรัชกาลที่ 1 หรือต้นรัชกาลที่ 2
1. รัตนพิมพวงศ์ (แปลเมื่อ พ.ศ. 2331)
2. คัมภีร์มหาวงศ์ (แปลเมื่อพ.ศ. 2339)
3. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา* (เรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2345)
4. ไตรเพท (เรียบเรียง)
5. เสนางคโยคศิลปะศาสตร์ (เรียบเรียง)
เปลื้อง ณ นคร. ประวัติวรรณคดีไทย. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2543.
ศิลปากร, กรม. วรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม 2 (หมวดศาสนจักร) ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา. กรุงเทพฯ : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์, 2535.