นามเดิม อิน แทบไม่มีหลักฐานให้ตรวจสอบประวัติความเป็นมา โคลงบทสุดท้ายในโคลงนิราศนรินทร์* กล่าวถึงกวีเพียงเล็กน้อยว่า
โคลงเรื่องนิราศนี้ นรินทร์อิน
รองบาทบวรวังถวิล ว่าไว้
เนื่องจากทำเนียบวังหน้าในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีตำแหน่งมหาดเล็กหุ้มแพรชื่อนายนรินทร์ธิเบศร์ และโคลงนิราศนรินทร์* แต่งขึ้นในคราวที่กวีตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ไปปราบพม่าที่ยกมาตีเมืองถลางและชุมพรใน พ.ศ.2352 ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณจึงได้ทรงอาศัยความโคลงบทสุดท้ายนี้สังเขปประวัติของนายนรินทร์ว่า เดิมชื่ออิน รับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ซึ่งเป็นวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 2 นายอินได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายนรินทร์ธิเบศร์ มหาดเล็กหุ้มแพร นายนรินทร์ธิเบศร์จึงน่าจะเป็นกวีในสมัยรัชกาลที่ 2
เจือ สตะเวทิน. คลังวรรณคดี ตอน 2. กรุงเทพฯ : สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, 2517.
พ. ณ ประมวญมารค. นิราศนรินทร์คำโคลงและนิราศปลีกย่อย. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา, 2513.