พระนามเดิม พระองค์เจ้าจิตรเจริญ พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่หม่อมเจ้าพรรณราย (ต่อมาเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2428 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ และพ.ศ. 2448 เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัติวงศ์ ได้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ กระทรวงพระคลัง และกระทรวงกลาโหม ตลอดจนกระทรวงวัง นอกจากนั้นยังทรงพระปรีชาเป็นพิเศษในทางการช่างและศิลปะทุกสาขารวมทั้งวรรณศิลป์ ดนตรีและการละคร แม้พระสุขภาพจะอ่อนแอจนต้องกราบถวายบังคมลาออกจากราชการในพ.ศ.2452 ก็ยังทรงงานช่างและศิลปะถวายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตลอด ต่อมาพ.ศ. 2456 ทรงได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
ในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงเป็นอภิรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ทรงรับเป็นผู้สำเร็จราชการในช่วงต้นของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอีกระยะหนึ่ง ต่อมาพ.ศ. 2488 ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ยังคงสนพระทัยค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดีและศิลปะร่วมสมัยกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและพระยาอนุมานราชธนเป็นอาทิ ดังเห็นได้จากพระหัตถเลขาที่รวมอยู่ในหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ และบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางวิชาการอย่างยิ่ง ในด้านละครทรงร่วมมือกับเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ในการจัดแสดงละครดึกดำบรรพ์ คือทรงช่วยในการแต่งและปรุงบท ออกแบบฉาก และควบคุมด้านศิลป์ทั่วไป โดยประสานกับพระประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด) ในทางดนตรี หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี) ในทางขับร้อง และหม่อมเข็มในเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ในทางคิดท่ารำ และแต่งหน้าตัวละคร เป็นต้น
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2490 พระชนมายุได้ 84 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลจิตรพงศ์
ในพ.ศ. 2506 เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 ปี องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก
บทละครดึกดำบรรพ์ (มีทั้งบทร้องและเจรจา)
1. เรื่องสังข์ทอง ตอน ทิ้งพวงมาลัย ตีคลี และถอดรูป
2. เรื่องคาวี ตอน เผาพระขรรค์ ชุบตัว และขึ้นหึง
3. เรื่องอิเหนา ตอน ตัดดอกไม้ฉายกริช ไหว้พระ และบวงสรวง
4. เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ภาคต้น ตั้งแต่พระสังข์ศิลป์ชัยตกเหวไปจนเห็นนิมิตว่ายังไม่ตาย และภาคปลายตั้งแต่ศรีสันท์เข้าเมืองจนถึงพระอินทร์มาช่วยสังข์ศิลป์ชัยขึ้นจากเหวได้
5. เรื่องกรุงพาณชมทวีป ตั้งแต่กรุงพาณกำเริบฤทธิ์ถึงพระกฤษณอวตาร
6. เรื่องรามเกียรติ์ ตอน ศูรปนขาตีสีดา
7. เรื่องอุณรุท จากพระกฤษณะรู้ข่าวอุณรุทถูกจับ จนเสร็จศึก
8. เรื่องมณีพิชัย ตั้งแต่พราหมณ์แกล้งอาสาแก้พิษงู จนถึงพราหมณ์ออกป่าไปกับพราหมณี
บทคอนเสิต
1. เรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย นาคบาศ และพรหมาศ
2. เรื่องอิเหนา ตอนบวงสรวง
บทตาโบลวิวังต์ (เพลงตับ)
1. เรื่องพระเป็นเจ้า ปรับจากโองการแช่งน้ำ กล่าวถึงเทพเจ้าของฮินดู 3 องค์ (พระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์)
2. เรื่องราชาธิราช ตอนสมิงพระรามหนีกลับเมือง
3. เรื่องนิทราชาคริต ตอนแต่งงานอาบู
4. เรื่องซินเดอริลล่า
5. เรื่องสามก๊ก ตอนจูล่งช่วยอาเต๊า
6. เรื่องขอมดำดิน ตัดตอนจากพระร่วง
7. เรื่องพระลอ ตอนปู่เจ้าส่งไก่แก้วไปล่อพระลอ
8. เรื่องอุณรุท ตอนนางศุภลักษณ์พาพระอุณรุทเหาะไปหานางอุษา
โคลง
1. โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ตอนที่ 37 ดุรินานุยุต
2. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ห้องที่ 42 – 43 รวมโคลง 56 บท เนื้อความตั้งแต่พระรามให้วานรแสดงฤทธิ์จนถึงสุกรสารถูกลงโทษ
3. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงประกอบรูปที่ 55 แผ่นดินพระเจ้าเสือ ภาพเสด็จทรงช้างข้ามบึงหูกวาง
โคลงประกอบรูปที่ 57 แผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ ภาพช้างทรงพระมหาอุปราชแทงช้างพระที่นั่ง
4. บทเห่เรือ
5. โคลงกระทู้ ทะ ลุ่ม ปุ่ม ปู และโคลงกระทู้ เฉ โก โว้ เว้
6. โคลงเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน*
ประชุมกาพย์เห่เรือ. กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร, 2460. (พิมพ์เปนของแจกในงานศพ นายพลเรือตรี พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ปีมเสงนพศก พ.ศ. 2460)
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. สารบาญวชิรญาณวิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.
ศิลปากร,กรม. ชุมนุมบทละครและบทคอนเสิต พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2506
________. บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, 2521.