พระนามเดิม หม่อมเจ้าทับ เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ประสูติแต่กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยซึ่งขณะนั้นทรงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเรียม ใน พ.ศ. 2349 เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงได้รับอุปราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระองค์จึงได้ดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายทับ เมื่อพระชนมายุครบที่จะทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จประทับจำพรรษา ณ วัดราชสิทธาราม
พ.ศ. 2356 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมพระตำรวจว่าความฎีกา ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซึ่งได้จากการค้าสำเภากับต่างประเทศขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถเพื่อทรงใช้ในราชการแผ่นดิน
พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้ประชุมกันเชิญเสด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหลายด้านคือ
การบริหารและการปกครอง ทรงจัดระเบียบการบริหารประเทศ ตั้งเมืองขึ้นใหม่ 40 เมือง เช่น เมืองขอนแก่น เมืองอุบล เมืองนครพนม ฯลฯ
การป้องกันประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมเพื่อเป็นแนวป้องกันทางทะเลให้เข้มแข็ง เช่น ป้อมปีกกาและป้อมตรีเพชรเหนือเมืองสมุทรปราการ ป้อมพิฆาฏข้าศึกที่เมืองสมุทรสงคราม เป็นต้น โปรดให้ต่อเรือกำปั่นรบขึ้นหลายลำ เช่น เรือแกล้วกลางสมุทร พุทธอำนาจ ราชฤทธิ์ วิทยาคม ฯลฯ ทรงสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ นอกจากทรงซื้อปืนและกระสุนจากต่างประเทศแล้วยังโปรดให้หล่อปืนใหญ่ใช้เองด้วย
ด้านการต่างประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2369 ทรงทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและพาณิชย์ฉบับแรกกับอังกฤษ เรียกกันว่าสนธิสัญญาเบอร์นี และใน พ.ศ. 2375 ทรงทำสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์กับสหรัฐอเมริกา ทรงค้าสำเภากับจีน ปีนัง สิงคโปร์ ลังกา ฯลฯ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศมาก ทรงปรับปรุงระบบภาษีการค้าภายในประเทศและต่างประเทศให้เป็นธรรม
ด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมสรรพวิชาอันเป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมในสังคมไทยมาจัดหมวดหมู่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นการให้ความรู้แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง
ด้านการศาสนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด 59 แห่ง สร้างพระพุทธปฏิมากร ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทรงออกกฎหมายเรื่องการพนันโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลากัดและไก่ชนเพื่อมิให้ราษฎรลุ่มหลงในอบายมุข โปรดให้เลิกฝิ่น ทรงปราบปรามอย่างเด็ดขาดด้วยการเผาฝิ่นดิบที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ กลักฝิ่นที่รวบรวมได้โปรดให้หล่อเป็นพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดสุทัศน์เทพวราราม
ด้านเศรษฐกิจและสังคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ขุดคลองและลอกคลองเพื่อการส่งกำลังบำรุงทัพ การคมนาคมและการขนส่งสินค้า เช่น ขุดคลองบางขนาก
ขุดลอกคลองบางบอน คลองสุนัขหอน คลองบางขุนเทียน เป็นต้น โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเสาหินเพื่อวัดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นข้อมูลสถิติทางอุทกวิทยาสำหรับการทำนาของประเทศ
ด้านศิลปวัฒนธรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุงศิลปกรรมทุกด้านทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมรวมทั้งวรรณกรรม ทรงอุปถัมภ์ช่างฝีมือทั้งที่เป็นฆราวาสและพระภิกษุ นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งวรรณกรรมแล้ว พระองค์เองยังทรงเป็นกวีด้วย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394
พระชนมพรรษา 64 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติ 27 ปี มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม 51 พระองค์ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น 3 แบบคือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระมหาเจษฎาราชเจ้า หรือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า อันมีความหมายว่า พระมหาราชเจ้าผู้มีพระทัยตั้งมั่นในการบำเพ็ญพระราชกิจ
1. เพลงยาวกลบทและกลอักษร
กลบทชื่อฉัตรสามชั้น
กลบทชื่อสร้อยสน
กลบทชื่ออักษรกลอนตาย
กลบทชื่ออักษรล้วน
กลบทชื่อธงนำริ้ว
กลบทชื่อครอบจักรวาล
กลบทชื่อหงส์คาบพวงแก้ว
กลบทชื่อตะเข็บไต่ขอน
กลบทชื่อนาคเกี้ยวกระหวัด
กลบทชื่อนาคราชแผลงฤทธิ์
กลบทชื่อบัวบานกลีบขยาย
กลบทชื่อพวงแก้วกุดั่น
กลอักษรชื่อคมในฝัก
กลบทชื่องูกลืนหาง
กลบทชื่อนกกางปีก
กลบทชื่อคุลาซ่อนลูก
กลบทชื่อถอยหลังเข้าคลอง
กลบทชื่อลิ้นตะกวด (ที่ 1)
กลบทชื่อลิ้นตะกวด (ที่ 2)
กลบทชื่อดอกไม้พวง
2. เพลงยาวปลงสังขาร
3. โคลงยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย*
4. โคลงภาพฤๅษีดัดตน
ภาพกามันตะกี
ภาพสังปติเหงะ
ภาพมโนช
ภาพมิคาชินทร์
5. บทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย
พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า. กรุงเทพฯ : มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระอุปถัมภ์, 2549.
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, ม.ร.ว. (บรรณาธิการ). มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์. กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์, 2531.