รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์
เกิด
วันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2362
เสียชีวิต
วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2429
ประวัติ
พระนามเดิม เจ้าฟ้ากลาง พระราชโอรสลำดับที่ 65 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งพระเจ้าน้องยาเธอ ได้ทรงรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาจนตลอดแผ่นดิน ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงพระอุตสาหะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเป็นอรรคอุดมสุขุมาลชาติ และได้ทรงพระอุตสาหะ รับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทรงพระปรีชารอบรู้ในสรรพราชกิจและศิลปศาสาตร์วิชาการต่างๆ สมควรจะเพิ่มพระเกียรติยศให้ยิ่งใหญ่ขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา
ต่อมาใน พ.ศ. 2410 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ ในรัชกาลเดียวกันนี้ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จราชการในกรมใหญ่น้อยต่างๆ หลายกรม คือกรมวัง กรมภูษามาลา กรมช้าง กรมพระธรรมการและโหรพราหมณ์เป็นต้น
ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2417 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ โปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติและกรมอื่น ๆ อีกหลายกรม
ครั้น พ.ศ. 2421 เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ที่สมุหนายกถึงอสัญกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จราชการสิทธิขาดในกรมมหาดไทย ต่อมาพ.ศ. 2428 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2429 พระชนมายุได้ 68 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลมาลากุล
ภายหลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
ผลงาน / งานประพันธ์
1. คำขับร้อง
2. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส
3. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
-ห้องที่ 74 – 76 รวมโคลง 84 บท เนื้อความตั้งแต่สารันสูรแจ้งข่าวการศึกจนถึงหนุมานเชิญเขาสรรพยามาแก้ศรพรหมาสตร์
4. โคลงสุภาษิตใหม่
บทที่ 32-33 โคลงความงาม
บทที่ 48 โคลงความเบื่อหน่าย
บทที่ 54 โคลงความเย่อหยิ่ง
บทที่ 75 โคลงความอาลัย
บทที่ 86 โคลงความริษยา
บทที่ 105 โคลงความพยาบาท
บทที่ 180 โคลงว่าด้วยความกล้าหาญ
บทที่ 194 โคลงความเกียจคร้าน
บทที่ 222 [ไม่ปรากฏชื่อ]
บทที่ 251 โคลงว่าด้วยความเพียร
บทที่ 276-280 โคลงความโลภ
บทที่ 300 โคลงความโทมนัส
บทที่ 318-321 โคลงความโสมนัส
บทที่ 344 โคลงความโกง
บทที่ 356-361 โคลงความสัตย์ซื่อ
5. ว่าด้วยพระแสงศรสามองค์
6. ลิลิตทศพร
7. ลิลิตหิมวันต์
8. โคลงนิราศเพนียด
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
"ราชกิจจานุเบกษา จ.ศ.1248 เล่ม 3.
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พล.ต. ม.ร.ว. และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ, 2549.
คำสำคัญ