รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยากรณ์ (พระองค์เจ้าฤกษ์)
เกิด
วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2352
เสียชีวิต
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2435
ประวัติ
พระราชโอรสพระองค์ที่ 18 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์สวรรคต สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพวดีจึงนำพระองค์เจ้าฤกษ์ไปถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้ทรงคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังทรงผนวช
ใน พ.ศ. 2365 พระองค์เจ้าฤกษ์ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดมหาธาตุ มีสมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ แต่เมื่อผนวชได้ 4 พรรษาก็ประชวรไข้ทรพิษจึงลาผนวชมารักษาพระองค์ เมื่อหายประชวร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงจัดให้ผนวชเป็นสามเณรอีกครั้ง จนถึงพ.ศ. 2372 จึงผนวชเป็นพระภิกษุ มีพระนามฉายาว่า ปัญญาอัคโค และจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุ จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร ภิกษุปัญญาอัคโคจึงย้ายมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารด้วย
พ.ศ. 2392 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2394 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์
ครั้นต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ก็ได้ทรงเป็นอุปัชฌาย์อีกและได้เสด็จเข้าไปประทับในพระพุทธรัตนสถาน ถวายโอวาทในทางธรรมวินัยตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช
พ.ศ. 2416 เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยากรณ์ ต่อมาพ.ศ. 2434 เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปวเรศวริยากรณ์ บวรรังสีสุริยพันธุ์ และต่อมาทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ พ.ศ. 2396-2435
พ.ศ. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกพระยศ “กรมสมเด็จพระ” แล้วทรงบัญญัติให้มีพระยศ “กรมพระยา” ขึ้นมาแทน และสถาปนาพระสมณศักดิ์เปลี่ยนคำนำหน้าพระนามเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยากรณ์
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยากรณ์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2435 พระชนมายุได้ 83 ปี พรรษา 64
ผลงาน / งานประพันธ์
ภาษาบาลี ได้แก่ สุคตวิทัตถิวิธาน (กำหนดคืบพระสุคต)
ภาษาไทย
1. ลิลิตพงศาวดารเหนือ*
2. โคลงพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. โคลงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์*
4. อภินิหารการประจักษ์
5. จดหมายเหตุบาญชีน้ำฝน
6. ตำราพิเศษคำโคลง
7. กลอนกาพย์
8. แก้ปัญหาธรรมวินิจฉัย เรื่องที่ 1 ในวชิรญาณเล่ม 5
งานแปลและเรียบเรียง ได้แก่ คำอ่านศิลาจารึก
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ปวเรศวริยาลงกรณ์, พระมหาสมณเจ้า กรมพระยา. ขอมและไทยโบราณ อักษรจารึกใบเสาศิลา ณ เมืองสุโขทัยและอภินิหารการประจักษ์ กรุงเทพฯ : สำนักนายกรัฐมนตรี, 2534.
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. สารบาญวชิรญาณวิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 110.
เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. (คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
คำสำคัญ