พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร พระนามเดิม พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล พระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติแต่เจ้าจอมมารดาพึ่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2398
พระองค์เจ้าคัคณางคยุคลเป็นพระเจ้าลูกยาเธอรุ่นใหญ่ซึ่งมีโอกาสได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่หลายปี ทรงพระปรีชาฉลาดเฉียบแหลมมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ หลังจากมีพระราชพิธีโสกันต์ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ประทับจำพรรษา ณ พระปั้นหยาที่วัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดาเมื่อยังทรงผนวชอยู่ที่วัดนั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ควบคุมการสร้างหอพระคันธารราฐ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งค้างมาแต่ในรัชกาลที่ 4 อนึ่งพระองค์เจ้าคัคณางคยุคลโปรดศึกษาตัวบทกฎหมายและอรรถคดียิ่งกว่าอย่างอื่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปทรงศึกษากฎหมายและหัดพิจารณาความในสำนักของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งทรงบัญชาการศาลรับสั่งอยู่ในเวลานั้น และในพ.ศ. 2419 ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร
หลังจากทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้พรรษาหนึ่งแล้วก็ทรงลาผนวชออกมารับราชการตามเดิม กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงรับตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นเป็นลำดับ คือเป็นอธิบดีศาลฎีกา อธิบดีศาลแพ่งกลาง และศาลแพ่งเกษม ในระหว่างที่ทรงบัญชาการศาลแพ่ง กรมหมื่นพิชิตปรีชากรทรงทำการสำคัญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องการเลิกทาส อันเป็นพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่แรกเสด็จครองราชย์ แต่ติดขัดที่ไม่ใคร่มีผู้เห็นด้วยกับพระราชดำริ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรได้ทรงบังคับคดีโดยยึดความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติเป็นสำคัญ เป็นการสนองพระราชดำริทำให้การเลิกทาสสำเร็จลุล่วงตามพระราชประสงค์ เรื่องที่สองคือการคิดแบบแผนวิธีทำบริคณห์สัญญาให้เป็นหลักฐานใช้ได้ทั้งพระราชอาณาจักรสืบมาจนทุกวันนี้
พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเป็นข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑลอิสาณ บังคับการทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ ให้ลุล่วง ต่อมาพ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) มีเหตุขัดแย้งรุนแรงระหว่างไทยกับฝรั่งเศส กรมหลวงพิชิตปรีชากรซึ่งสำเร็จราชการอยู่ที่มณฑลอิสาณในช่วงนั้นได้ถวายรายงานให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อเท็จจริง และทรงรับพระราชกระแสรับสั่งไปบัญชาการได้ดังพระราชประสงค์
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเสด็จกลับมาทรงรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมต่อจากพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ ขณะนั้นเป็นเวลาชำระคดีความเรื่องพระยอดเมืองขวาง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นหัวหน้าผู้พิพากษาฝ่ายไทยในการชำระความคดีนี้
ภายหลังกรมหลวงพิชิตปรีชากรประชวรไม่ทรงสามารถรับราชการได้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการศาลฎีกา กรมหลวงพิชิตปรีชากรก็เสด็จมาทรงงานได้เป็นครั้งคราว
นอกจากงานราชการแล้ว กรมหลวงพิชิตปรีชากรยังสนพระทัยในเรื่องอักษรศาสตร์และการประพันธ์ ทรงมีส่วนร่วมในการตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ และตั้งกรรมสัมปาทิกสภาหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นในพ.ศ. 2423 เมื่อแรกตั้งยังไม่มีหอพระสมุด จนเมื่อกรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเป็นสภานายก จึงทรงจัดให้มีหอสมุด โดยประทานหนังสือส่วนพระองค์แก่กรรมสัมปาทิกเป็นเบื้องต้น ทั้งยังทรงเป็นบรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษด้วย ในด้านการศึกษากรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงเป็นหัวหน้ากรรมการจัดตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนสวนนันทอุทยาน ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐบาลที่สอนภาษาต่างประเทศก่อนมีการตั้งกระทรวงธรรมการ
กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดการเรียนรู้ ทรงรู้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดีจากการทรงเรียนรู้เอง ในด้านการประพันธ์ก็สนพระทัยและทรงนิพนธ์ได้ทั้งแบบเดิมและแบบสมัยใหม่
ร้อยกรองขนาดสั้น
1. ลิลิตสรรเสริญพระบารมี*
2. โคลงชมเกาะสีชัง
3. ฉันท์ชมธาร
4. ฉันท์และโคลงชมแก่งหลวง
5. ฉันท์ชมน้ำพุที่ท้องช้าง
6. โคลงทรงแต่งผนึกพระรูปพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
7. คำจารึก ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี*
8. ฉันท์จารึกอนุสาววรีย์สมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
9. โคลงภาพรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม* ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ และตอนทศกัณฐ์สั่งเมือง
10. โคลงภาพอสุรพงศ์ ภาพอสุรผัดกับภาพมัจฉานุ
11. ฉันท์และโคลงจารึกอนุสสาวรีย์พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ
12. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร* ตอนสมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีด้วยพระมหาอุปราชาและตอนนายขนมต้มชกพม่าที่อังวะ
13. โคลงยอพระเกียรติสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์
14. โคลงชมความเพียร
15. ร่ายดั้นสรรเสริญพระบารมีและถวายพระพร
16. เพลงยาว
17. โคลงสุภาษิตตักเตือนใครคนหนึ่ง
18. โคลงพรรณนาคนห้าหมู่
19. โคลงถึงสมณะ
20. โคลงชมปลา
21. โคลงชมหนังสือ
22. ฉันท์รักดี
23. คำสรรเสริญปัญญาฉันท์ติการเสพสุรา
24. เพลงยาวพ้อ
ร้อยกรองขนาดยาว
1. โคลงสุภาษิตใหม่ ได้แก่
ความรัก โคลงที่ 35-36 และ 40
ความเบื่อหน่าย โคลงที่ 49
ความเย่อหยิ่ง โคลงที่ 58 และ 62
ความอาไลย โคลงที่ 79-80
ความฤษยา โคลงที่ 90
ความพยาบาท โคลงที่ 101
ความอาย โคลงที่ 115-117 และ 129
ว่าด้วยความกลัว ขลาด โคลงที่ 148, 150 และ 156
ว่าด้วยความกล้าหาญ โคลงที่169-172
ความเกียจคร้าน โคลงที่ 197-199 และ 208
ความเพียร โคลงที่ 228-232, 258-260
ความโลภ โคลงที่ 265-271
ความโทมนัส โคลงที่ 301-305
ความโสมนัส โคลงที่ 322
ความโกง โคลงที่ 327
2. บทละครเรื่องอิเหนา* ตอนศึกท้าวกระหมังกุหนิงตีกรุงดาหา
3. คำโคลงเรื่องท้าวกาสี*
4. ฉันท์เรื่องนางโสภณีและรากษส*
ร้อยแก้ว
1. ธรรมสารวินิจฉัย
2. เรื่องสนุกนิ์นึก*
3 เรื่องทำนา
4. บทละครพูดเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยไปตีเชียงใหม่