พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาวาด (ภายหลังโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ท้าววรจันทร์) เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2406
เมื่อทรงพระเยาว์ได้ทรงศึกษาหนังสือไทยที่คุณปานบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ แล้วมาทรงศึกษาหนังสือขอม บาลี ที่สำนักพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษจากครูอังกฤษชื่อ นายฟรานซิส ยอร์ช แพตเตอร์ซัน
ในรัชกาลที่ 5 พระชันษาได้ 13 ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมหลังเก่า ในพระบรมมหาราชวัง ในปีต่อมาทรงผนวชเป็นสามเณรประทับ ณ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ครั้นลาผนวชแล้ว จึงทรงเข้ารับราชการ และทรงศึกษาศิลปวิทยาไปด้วย จนพระชันษา 24 ปี จึงทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ประทับ ณ วัดราชประดิษฐ์ฯ เช่นเดิม มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการดังเดิม
กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาทรงรับราชการในหน้าที่ต่างๆ คือ เดิมทรงรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ตั้งแต่แรกฝึกหัดเป็นนายร้อย ต่อมาโปรดให้ไปรับราชการเป็นผู้ช่วยในกรมราชเลขานุการ เมื่อ พ.ศ. 2423 ส่วนราชการทหารนั้นยังคงรับราชการอยู่ พ.ศ. 2424 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นราชองครักษ์มียศเสมอนายร้อยเอก คงรับราชการในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ถึงพ.ศ. 2426 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายพันตรี แล้วเป็นผู้ช่วยงานสถานทูต ออกไปประจำอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์เป็นอัครราชทูต ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษาในสถานทูต ได้ไปราชการกับอัครราชทูต เป็นทูตพิเศษไปเจริญทางพระราชไมตรีในประเทศสหรัฐอมเริกา ทรงรับราชการอยู่ต่างประเทศ 4 ปี
ครั้นพ.ศ. 2428 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับมาจากยุโรป โปรดให้ทรงรับราชการตำแหน่งราชเลขานุการฝ่ายต่างประเทศ
ครั้นพ.ศ. 2429 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุดังกล่าวมาแล้ว
พ.ศ. 2430 ทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นองคมนตรี
ต่อมา พ.ศ.2431 มีราชการที่จะต้องจัดการป้องกันพระราชอาณาเขตทางมณฑลพายัพ แขวงเมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งต่อกับยางแดงและเงี้ยว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จขึ้นไปบังคับบัญชาข้าราชการทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน จัดการรักษาราชการ พระราชทานยศทหารเป็นนายพันเอก เสด็จไปประทับอยู่นครเชียงใหม่รักษาราชการอยู่ 3 ปี
พ.ศ. 2433 โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับลงมารับราชการในกรมราชเลขานุการ ตำแหน่งฝ่ายต่างประเทศตามเดิม และโปรดให้มีหน้าที่เป็นข้าหลวงใหญ่จัดการเมืองนครราชสีมา แต่คงรับราชการอยู่ในกรมราชเลขานุการที่กรุงเทพฯ มีพระยาประสิทธิ์ศัลการเป็นข้าหลวงรอง ขึ้นไปประจำราชการแทน
ครั้นพ.ศ. 2435 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการกรมศุลกากรตลอดปี และในปีนั้นเอง ทรงจัดตั้งตำแหน่งกระทรวงเสนาบดี 12 กระทรวง โปรดเกล้าฯ ให้ทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมรธาธร
ครั้นพ.ศ. 2436 โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการเป็นผู้แทนเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการอีกตำแหน่งหนึ่ง ส่วนตำแหน่งเดิมยังคงรับราชการอยู่
พ.ศ. 2437 โปรดให้เป็นสภานายกรัฐมนตรีเมื่อเริ่มตั้งรัฐมนตรีสภา ได้ทรงจัดวางระเบียบแบบแผนในการประชุมรัฐมนตรี เป็นการเรียบร้อย
ครั้นพ.ศ. 2439 โปรดให้ออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ไปเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ได้มีราชการสำคัญในระหว่างนี้คือ เปิดรถไฟหลวงสายนครราชสีมา และเริ่มสร้างสายเพชรบุรี จัดตั้งกรมเจ้าท่าและรักษาคลอง และกรมก่อสร้าง ขึ้นในกระทรวงโยธาธิการ เมื่อพ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่วยราชการในหน้าที่ราชเลขานุการอยู่ที่กรุงเทพฯ
พ.ศ. 2441 โปรดให้ย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง
ส่วนราชการพิเศษนอกจากตำแหน่งประจำกระทรวงก็ได้ทรงรับหน้าที่อีกหลายประการคือ ทรงเป็นสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณครั้งหนึ่ง
เมื่อพ.ศ. 2435 ทรงเป็นลัญจกราภิบาลแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม ตั้งแต่พ.ศ. 2436 เป็นมัคนายกวัดมหาพฤฒาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2445 เป็นกรรมการตรวจตัดสินเครื่องโต๊ะลายคราม
ส่วนราชการที่ต้องเสด็จไปต่างประเทศมีหลายครั้งคือ เมื่อพ.ศ. 2423 ตามเสด็จสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ไปราชการเมืองสิงคโปร์ ต่อมาพ.ศ. 2426 เสด็จไปรับราชการในสถานทูตประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2435 โปรดให้เสด็จไปรับรองเจ้าชายเฟอร์ดินันด์ กรุงออสเตรีย ที่เมืองสิงคโปร์ ในพ.ศ. 2444 โดยเสด็จพระราชดำเนินประพาสชวา
ด้านพระอิสริยศักดิ์นั้น เมื่อ พ.ศ. 2434 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ครั้นพ.ศ. 2443 โปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา
พระองค์ทรงรับราชการมาจนถึงพ.ศ. 2448 มีพระโรคเบียดเบียน ไม่สามารถจะทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญตลอดมา
1. โคลงเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระเอกาทศรถ ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
2. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงประกอบรูปที่ 43 แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพราชทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศส
โคลงประกอบรูปที่ 76 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภาพท้าวเทพสัตรีรักษาเมืองถลาง
3. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ห้องที่ 68 – 69 รวมโคลง 56 บท เนื้อความตั้งแต่ทศกัณฐ์ให้มังกรกรรฐ์ออกรบขัดตาทัพจนถึงมังกรกรรฐ์ล้ม
4. โคลงเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระเอกาทศรถ ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
5. คำแก้โคลงกระทู้ บทที่ 19 หนึ่ง สอง สาม สี่ ซึ่งได้รับรางวัลที่ 2 จำนวน 1 บท