รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส)
นามแฝง
เกิด
วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2419
เสียชีวิต
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2488
ประวัติ
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ พระนามเดิม พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส พระโอรสกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลี่ยม (เล็ก)
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคต พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสมีพระชนมายุเพียง 7 ปี แต่ทรงสามารถในการศึกษาภาษาและวรรณคดีไทย ทรงอ่านอักษรขอมได้ เมื่อพระชนมายุ 10 ปี ได้ทรงเข้าเป็นนักเรียนประจำ ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจนจบประโยคหนึ่ง เมื่อโสกันต์แล้ว ทรงบรรพชาเป็นสามเณรก่อนจึงทรงศึกษาต่อประโยคสอง ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 แต่พระชนมายุยังน้อยเข้ารับราชการไม่ได้ ต้องเรียนภาษาอังกฤษรออยู่จนพ.ศ. 2436 จึงทรงเข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการ หลังจากนั้น 3 ปี ได้ทรงย้ายไปเป็นล่ามในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ตามเสด็จในคราวประพาสยุโรปครั้งแรก พ.ศ. 2440 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงอยู่ศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ เมื่อทรงเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เพียงสามภาคเรียน ก็ถูกเรียกกลับมารับราชการในกระทรวงพระคลัง ทรงรับหน้าที่จัดตั้งกรมธนบัตร ตราพระราชบัญญัติ วางกฎและหลักการบัญชี พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสทรงเจริญในราชการอย่างรวดเร็ว จนได้เป็นอธิบดีกรมตรวจแลกรมสารบาญชีในปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงดำรงตำแหน่งกรรมการในสภากรรมการหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ตั้งแต่พ.ศ. 2459 และในพ.ศ. 2468 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกแผนกวรรณคดีแห่งราชบัณฑิตยสภา ทั้งทรงได้รับตำแหน่งสภานายกของกรมการองคมนตรีถึงสองคราวก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475 นอกจากนี้ยังทรงงานการกุศลเป็นกรรมการสภากาชาดตั้งแต่พ.ศ. 2467-2483 จึงทรงได้ปฏิบัติงานช่วยกาชาดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย
ผลงาน / งานประพันธ์
1. เรื่องออกไปเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษ
2. สงครามรัสเซียกับญี่ปุ่น ในลักวิทยา
3. จดหมายจางวางหร่ำ ในทวีปัญญา
4. เรื่องสืบราชสมบัติ ในนิทรานุเคราะห์
5. พระนลคำฉันท์ (ทรงเริ่มแต่งแต่พ.ศ. 2456-2458)
6. ตลาดเงินตรา
7. นิทานเวตาล
8. กนกนคร
9. ประชุมปาฐกถาเล่ม 1 และเล่ม 2
10. นิทาน น.ม.ส. และประมวญนิทาน น.ม.ส. (บางเรื่องรวมอยู่ในร้อยแก้วแนวใหม่*)
11. บทเห่เรือในพระราชพิธีทรงเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ 6 มิถุนายน 2475
12. ฉันท์สดุดีสังเวยสมโภชพระมหาเศวตฉัตร
13. บทความต่าง ๆ ที่พิมพ์รวมเล่มในชื่อผสมผสาน
14. สามกรุง (ทรงเขียนจบเรื่องในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 จากนั้นทรงแต่งภาคผนวกจนจบสมบูรณ์ แต่ยังมิทันจัดพิมพ์ก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน)
15. ทรงแปลพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ
16. ทำไมจีนจึงแพ้ญี่ปุ่น
17. ตาแก่ขนถ่านหิน
18. ต้นร้ายปลายดี (ภายหลังพิมพ์รวมในร้อยแก้แนวใหม่*)
19. นิทานสุภาษิตจีน
20. “อะไรแน่หนอ”
21. สนทนาเรื่องภูมิศาสตร์
22. สู้กันด้วยกลืนยาพิษ
23. สืบสรรพการ
24. เรื่องถึง 30 เปอเซ็นต์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
พิทยาลงกรณ, กรมหมื่น. เรื่องของนักเรียนเมืองอังกฤษ. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น, 2514.
ยุพร แสงทักษิณ. วรรณคดีการเมืองเรื่องสามกรุง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน, 2540.
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. ทำเนียบผู้บริหารหอพระสมุดวิรญาณและเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2424 – 2476. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543
พระประวัติและพระนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2491. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2491)
คำสำคัญ