รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
หลวงประสิทธิอักษรสาร (เทศ)
เกิด
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2400
เสียชีวิต
วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2446
ประวัติ
หลวงประสิทธิอักษรสาร นามเดิม เทศ เป็นบุตรนายตรุศ เมื่ออายุได้ 11 ปี ได้ศึกษาวิชาหนังสือและเลข วิชาช่างเขียนจากพระแพพี่ชายซึ่งอุปสมบทอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารได้ประมาณ 6 - 7 ปี
นายเทศบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงอุปสมบทเป็นภิกษุ มีนามฉายาว่า ปัณฑิโต เมื่ออุปสมทบแล้วได้เข้าสอบไล่พระปริยัติธรรม ณ สนามพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค ครั้นภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระครูวินัยธร
ภายหลังลาสิกขาแล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น โปรดให้หลวงสุรยุทธโยธาหาญ (ดั่น) เจ้ากรมโรงเรียนตำหนักพระสวนกุหลาบนำถวายตัวเป็นมหาดเล็ก
พ.ศ. 2429 เข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการ ต่อมาพ.ศ. 2432 ได้รับพระราชทานสัญญาบัติเป็นขุนประสิทธิอักษรสาร มีตำแหน่งในกรมศึกษาธิการ
พ.ศ. 2434 ได้เป็นผู้จัดการพิมพ์ในโรงพิมพ์อักษรพิมพการ ปีต่อมาเป็นนายเวรสอบวิชากรมศึกษาธิการ และพ.ศ. 2438 เป็นผู้แทนครูใหญ่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง และในปีต่อมาก็ได้รับตำแหน่งครูใหญ่
พ.ศ. 2440 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงประสิทธิอักษรสาร ปลายพ.ศ. 2445 หลวงประสิทธิอักษรสารป่วยจึงขอลาออกราชการ
หลวงประสิทธิอักษรสารถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2446 อายุได้ 46 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
"บทดอกสร้อยสุภาษิต
-โพงพางปลาเข้าลอด
-จุ๊บแจงแม่ยายร้องเรียก
ผู้เรียบเรียง
สุปาณี พัดทอง และพลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. “อธิบายเรื่องบทดอกสร้อยสุภาษิต.” ให้พระยาอนุมาน. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2535. (กรมศิลปากร องค์การค้าของคุรุสภา และมูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน)
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 123 เล่ม 21.
เรื่องบทดอกสร้อยสุภาษิต สุภาษิตพระร่วง และสุภาษิตอิศรญาณ. กรุงเทพฯ : ศรีอนันต์, 2541. (กรมศิลปากรอนุญาตให้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูประดิษฐ์สรธรรม(สงัด ญาณวีโร) วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541)
คำสำคัญ