รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
เกิด
วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2399
เสียชีวิต
วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2467
ประวัติ
เป็นพระราชโอรสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ พระสนมเอก เมื่อพระชนม์ได้ 6 ปี เจ้าจอมมารดาถึงแก่อสัญกรรม จึงได้ทรงอยู่ในความดูแลของท้าวทรงกันดาล (ศรี) ขรัวยาย พระชนม์ได้ 7 ปี ได้ทรงศึกษาหนังสือในชั้นต้นในสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษณา ทรงอ่านออกเขียนได้แล้วทรงเรียนเลขกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงเรียนหนังสือขอมกับคุณนกพนักงานกลับกระ (คือช่างทอผ้ารัดคัมภีร์ที่มีตัวหนังสือขอม) ทรงเรียนภาษามคธกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) เมื่อยังเป็นหลวงราชาภิรมย์
ในรัชกาลที่ 4 ทรงใช้สอยประจำพระองค์มาจนพระชันษาได้ 13 ปี ถึงพ.ศ. 2411 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และได้รับพระราชทานพานทองเครื่องยศกับหีบทองลงยา และได้รับพระราชทานพระบรมทนต์ด้วย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ทรงผนวชสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในปีนั้นได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วย
ครั้นถึงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายเทศน์มหาชาติกัณฑ์จุลพนที่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในระหว่างที่ทรงผนวช ได้ทรงเรียนภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) ทรงลาผนวชเมื่อพ.ศ. 2416 รวมเวลาทรงผนวชเป็นสามเณร 6 พรรษา เมื่อลาผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงว่าราชการกรมสรรพยุทธและช่างสนะ ครั้นพ.ศ. 2419 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช (สา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เสด็จไปประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารได้พรรษาหนึ่ง จึงทรงลาผนวชกลับมาทรงรับราชการในตำแหน่งเดิม ถึงพ.ศ. 2421 โปรดเกล้าฯ ให้ว่ากรมอักษรพิมพการ และได้ทรงออกหนังสือพิมพ์ดรุโณวาท ทรงเป็นนายด้านปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงทำจารึกแผ่นศิลาโคลงรามเกียรติ์และโคลงต่างๆทั้วทั้งวัด ซ่อมลายเขียนซึ่งทำยังไม่เสร็จ รวมทั้งที่ชำรุดภายในพระอุโบสถ
พ.ศ. 2426 ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ แล้วพระราชทานยศเป็นว่าที่นายพันตรี ได้ทรงเป็นผู้ช่วยราชการเสนาบดีกระทรวงวัง
พ.ศ. 2435 โปรดเกล้าฯ ให้มารับราชการในกระทรวงยุติธรรม ตำแหน่งผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์คดีหลวง และย้ายไปเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งสรรพากร ในพ.ศ. 2436 ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้นเสด็จไปราชการ ณ ประเทศในยุโรป ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่แทนจนถึง พ.ศ. 2437 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรมาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จึงทรงย้ายไปรับราชการในศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ตำแหน่งผู้พิพากษา พ.ศ. 2440 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ จนสิ้นรัชกาลที่ 5
ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ตั้งกองเสือป่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ ก็ได้สมัครเป็นเสือป่าด้วย และได้รับพระราชทานยศเป็นมหาอำมาตย์โท และมหาเสวกโท
พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์
ต่อมาพ.ศ. 2457 ได้ทรงรับเชิญเป็นเนติบัณฑิตกิตติมศักดิ์และสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาในปีแรกตั้งเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2459 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นกรรมการศาลฎีกาตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2464 ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเนื่องจากทรงพระประชวร
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม*
ห้องที่ 67 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่อินทรชิตทำพิธีชุบศรนาคบาศจนถึงฝูงนาคมาคายพิษใส่ศร
ห้องที่ 169 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่พระรามรบกับท้าวอุณาราชจนถึงนางไวยาสูรและนางประจันคร่ำครวญถึงท้าวอุณาราช
2. โคลงอธิบดีกรมพระแสงในซ้าย ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
3. โคลงความเกียจคร้าน บทที่ 202 โคลงความเพียร บทที่ 212-213 และ 255-256 โคลงความโสมนัส บทที่ 309 โคลงความโกง บทที่ 328 ใน โคลงสุภาษิตใหม่ หรือโคลงสุภาษิตเจ้านาย
4. โคลงศัพท์ในนอก จำนวน 37 บท ในโคลงว่าด้วยของสองสิ่ง ภายหลังนำไปรวมพิมพ์ใหม่ใช้ชื่อว่า โคลงอุภัยพากย์
5. ทรงรับเวรวันจันทร์ เรียบเรียงพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ. 2418 – 2419 รวม 19 วัน ลงพิมพ์ในหนังสือ Court ข่าวราชการ
ผู้เรียบเรียง
สยาม ภัทรานุประวัติ, พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. สมณศาสนพระเถระธรรมยุติกา มีไปยังลังกาทวีป. พระนคร :โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2468. (พิมพ์พร้อมด้วยคำแปลในงารพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. 2468)
กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า. มหามกุฎราชสันตติวงศ์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง. 2547.
ราชสกุลเกษมสันต์ พระนามพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา และสมาชิกในราชสกุล. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้ง, 2548. (พิมพ์เนื่องในการประชุมราชสกุลวงศ์ “เกษมสันต์” วโรกาสครบรอบแปดสิบปีวันสิ้นพระชนม์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ พ.ศ. 2548)
เรื่องเฉลิมพระยศเจ้านาย ฉะบับมีพระรูป. พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2472. (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ปีมะเส็ง พ.ศ. 2472)
สมณศาสนพระเถระธรรมยุติกามีไปยังลังกาทวีป พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เปนภาษามคธเมื่อยังทรงผนวช. พระนคร : บำรุงนุกูลกิจ, 2468.(พิมพ์พร้อมด้วยคำแปลในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง พ.ศ. 2468)