รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
นามแฝง
เกิด
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2377
เสียชีวิต
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2467
ประวัติ
บุตรของนายเส็งกับนางตรุษ ในตระกูลขุนนางเก่าสมัยอยุธยา เมื่ออายุได้ 11 ปี ถวายตัวเป็นมหาดเล็กไล่กาเวลาทรงบาตร ได้เรียนหนังสือไทยชั้นต้นในสำนักพระองค์เจ้ากินรี แล้วศึกษาต่อในสำนักวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บรรพชาเป็นสามเณร ได้รับนามฉายาประทานจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสว่า “สามเณรเกศะโร” ซึ่งเป็นที่มาของนาม ก.ศ.ร.กุหลาบ (บางแห่งใช้ ก.ส.ร.กุหลาบ)
เมื่อสึกจากสามเณรแล้วเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีโอกาสศึกษาภาษาต่างประเทศกับสังฆราชปาเลอกัวซ์ที่วัดอัสสัมชัญ ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระเชตุพนฯ ได้เรียนการแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ภาษาบาลีสันสกฤต วิชากฎหมายอย่างเก่ากับขุนสารประเสริฐ (นุช) และศึกษางานราชการกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก)
เมื่อลาสิกขาแล้วได้ประกอบอาชีพเป็นเสมียนรับจ้างห้างฝรั่งหลายแห่ง เช่น ห้างมิสเตอร์คิงชาวอังกฤษ ห้างมิสเตอร์แปลกชาวอเมริกัน โรงสีไฟของชาวเยอรมันและชาวฝรั่งเศส มีโอกาสไปต่างประเทศเพื่อตรวจสินค้ากับนายห้างถึงเมืองสิงคโปร์ ปีนัง สุมาตรา ปัตตะเวีย มะละกา ฮ่องกง อินเดีย และในประเทศยุโรป ได้เป็นล่ามของหลวงนายสิทธิ (จู) ไปซื้อของที่เมืองจีนเพื่อนำมาทำพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ต่อมาได้เข้ารับราชการในตำแหน่งแอดชุแตนต์ (adjutant นายร้อยเอก)
ก.ศ.ร.กุหลาบสนใจศึกษาหาความรู้และการทำหนังสือ ได้ออกหนังสือสยามประเภทในฐานะเอดิเตอร์ (editor หรือบรรณาธิการ) สยามประเภทเป็นหนังสือออกรายเดือนรับสมาชิกเฉพาะ มีการถามตอบปัญหาต่าง ๆ กับผู้อ่าน ลงสารคดีที่เป็นความรู้ใหม่ ๆ รวมทั้งบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เกร็ดชีวประวัติบุคคล ต่อมาก.ศ.ร. กุหลาบเป็นเอดิเตอร์ออกหนังสือสยามออบเซอร์เวอร์ เป็นภาษาอังกฤษปนภาษาไทยอีกฉบับหนึ่ง
ภายหลังก.ศ.ร.กุหลาบออกจากตำแหน่งแอดชุแตนต์ และลาออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณ แล้วได้ออกหนังสือ “สยามประเภท” ขายเป็นรายเดือน นำเรื่องในหนังสือหอหลวงลงพิมพ์บ้าง แต่งแทรกบ้าง แก้ไขบ้าง และแต่งเองบ้าง จนเกิดเหตุถูกสอบสวนเมื่อแต่งเรื่องพงศาวดาร ก.ศ.ร.กุหลาบจึงได้รับสารภาพว่าแต่งขึ้นโดยไม่มีตำราอ้างอิงแต่ก็มิได้ถูกลงโทษ ต่อมาในพ.ศ. 2443 แต่งพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา) อีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นประธานสอบสวน แม้จะทรงทราบว่าเป็นความเท็จแต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณละเว้นโทษ
ผลงาน / งานประพันธ์
1. หนังสือสยามประเภท 12 เล่ม
2. หนังสือสยามออบเซอร์เวอร์
3. บำรุงปัญญาประชาชน 2 เล่มจบ
4. มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ 2 เล่มจบ
5. อานามสยามยุทธ์ 4 เล่มจบ
6. ดับทุกข์มีสุข
7. พงษาวดารพระเจ้ากรุงธนบุรี
8. พงษาวดารพระมหากษัตริย์แห่งจักรีวงษ์ทั้ง 4 รัชกาล
9. ระยะทางที่ทูตไปปักกิ่ง
10. ธรรมวิทยานุศาสน์ ตำราบวช พระ-เณร
11. เรื่องอธิบดี
12. เรื่องวิเคราะห์คนไทยตัดผม แต่งตัวอย่างไร
13. ธรรมยุติกมหานิกาย
14. นิราศยี่สาร*
15. ดิกชันนาเรพระนามเจ้าต่างกรม 365 พระองค์เรียงตามอักษร (ก) ถึง (ฮ)
16. เฉลิมพระเกียรติกรุงสยาม
17. เรื่องขุดคลองต่างๆ
18. บาญชีหนังสือตั้งในการนาชันแนลเอกซฮิบิเชอน
19. อภินิหารบรรพบุรุษ
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : เอกพิมพ์ไท, 2544. (สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดพิมพ์ พ.ศ. 2544)
มนันยา ธนะภูมิ. ก.ส.ร.กุหลาบ. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2525.
สงบ สุริเยนทร์. ชีวิตและงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2522.
หอพระสมุดวชิรญาณ. บาญชีสมาชิกแลกรรมสัมปาทิก แต่มีจุลศักราช 1243 จน 1248 แลบาญชีหนังสือไทยเรื่องต่างๆ ในหอพระสมุด. ม.ป.ท., จ.ศ. 1248.
คำสำคัญ