หลวงพัฒนพงศ์ภักดี นามเดิม ทิม สุขยางค์ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2390 ในตระกูลพ่อค้า เมื่อเจริญวัยบิดานำมาฝากตัวกับเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล)
นายทิมบวชเป็นพระภิกษุที่วัดราชบุรณะได้ 3 พรรษา ก็ลาสิกขาใน พ.ศ. 2413 ได้กลับมาเป็นทนาย (ผู้ติดตาม) เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงซึ่งขณะนั้นมีบรรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชสุภาวดี จนถึง พ.ศ. 2418 เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพคุมกองทัพจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคายได้นำนายทิมไปในกองทัพด้วย
ขณะเป็นทนายติดตามไปในกองทัพครั้งนั้น นายทิมได้มีโอกาสเห็นวิธีการจัดทัพ การเดินทาง สภาพบ้านเมือง สภาพภูมิประเทศ ตลอดจนข้อปัญหาต่าง ๆ ของการไปราชการทัพ เนื่องจากชอบแต่งบทกลอนจึงนำประสบการณ์ระหว่างเดินทางแต่งเป็นนิราศตามที่นิยมแต่งกันในสมัยนั้นเรียกว่านิราศหนองคาย ต่อมาได้นำออกพิมพ์โฆษณาเมื่อ พ.ศ. 2421 แต่ถูกฟ้องร้องว่าหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อไต่สวนความได้ยอมรับว่าแต่งขึ้นด้วยปัญญาความคิดของตนเองไม่มีผู้ใดแนะนำสั่งสอน จึงถูกตัดสินลงโทษจำคุกอยู่ 8 เดือน และให้ทำลายหนังสือนิราศหนองคายฉบับพิมพ์ทั้งหมด
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภัยโทษจึงพ้นจากการจองจำกลับไปอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ได้รับแต่งตั้งเป็นขุนจบพลรักษ์ ขุนหมื่นประทวนในกรมพระสุรัสวดี เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรงถึงแก่อนิจกรรม ได้มาเป็นข้าหลวงในพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจุธารัตนราชกุมารีและพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิชัยมหินทรโรดม ภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงพัฒนพงศ์ภักดี สังกัดในกรมพระคลังข้างที่ เมื่อ พ.ศ. 2439
หลวงพัฒนพงศ์ภักดีถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2458 รวมอายุ 68 ปี
บทละคร
1. พระอภัยมณี
2. ราชาธิราช
3. ลักษณวงศ์
4. ทินวงศ์
5. ยักษียักษา
6. สามก๊ก
7. จักรแก้ว
8. ขุนช้าง - ขุนแผน
9. อาบูหะซัน*
10. บ้วยหั่งเหลา
11. สิงหไตรภพ
12. สามฤดู
13. มณีสุริยง
14. พระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกี
15. ทิ้งพวงมาลัยเจ๊ก
16. สุริวงศ์พรหเมศ
17. วงศ์เทวราช
กลอนอ่าน
1. มณีนพรัตน์
2. กายนคร
3. ฉัตรสามชั้น (สุภาษิตคำกลอน)
4. พระศรสุริยัน
5. นิราศหนองคาย*
นอกจากนี้ยังมีกลอนและโคลงเบ็ดเตล็ดอีกหลายเรื่อง เช่น โคลงกระทู้สุภาษิต