รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระยาสโมสรสรรพการ / ทัด ศิริสัมพันธ์
นามแฝง
เกิด
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2393
เสียชีวิต
วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2496
ประวัติ
พระยาสโมสรสรรพการ นามเดิม ทัด ศิริสัมพันธ์ เป็นบุตรพระยาไกรโกษา (สองเมือง ศิริสัมพันธ์) กับนางลำใย เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2393 ที่เมืองจันทบุรี
เมื่ออายุได้ 3 ขวบ บิดาได้นำถวายตัวในพระราชพิธีสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นพระอู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน อยู่ในความดูแลของคุณเถ้าแก่น้อยผู้เป็นป้า ได้ศึกษาหนังสือขอมที่วัด และวิชาอื่นๆ จากบิดา บวชเป็นสามเณรครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปีอยู่ที่วัดมหาธาตุ ทำให้มีโอกาสศึกษาวิชาช่างทำลวดลายสลักทองอังกฤษจากพระปลัดสิง กับเป็นผู้สอนให้แต่งหนังสือโคลงฉันท์ ภายหลังลาสึก คุณเถ้าแก่น้อยพาไปฝากไว้กับสมภารวัดบางไผ่ เมืองนนทบุรี ให้เรียนภาษาบาลี จึงได้บวชสามเณรอีกครั้งหนึ่ง
ถึงรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2415 เริ่มเข้ารับราชการได้เป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาพ.ศ. 2417 ได้รับประทวนเป็นเปซายันต์ (นายสิบใช้จ่าย) ทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์ แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นกุเรเตอร์หอมิวเซียม (Curator คือภัณฑารักษ์) ในกรมทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์ มียศเป็นนายสิบเอก ครั้นพ.ศ. 2425 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็น หลวงสโมสรพลการ คงตำแหน่งเดิม โปรดให้เป็นเจ้าหน้าที่ไปเดินสวนบ้าง ไปราชการตรวจหาศิลาจารึกตามหัวเมืองฝ่ายเหนือกับพระยาวจีสัตยารักษ์ (ดิศ) ครั้งยังเป็นหลวงกำจัดไพรินทร์ ได้ศิลาจารึกกลับมากรุงเทพฯ หลายหลัก ครั้นกลับมากรุงเทพฯ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นเจ้ากรมโยธา กระทรวงโยธาธิการ พ.ศ.2434- 2435 ได้เป็นผู้ช่วยสาราณียกรในกรรมสัมปทิกหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. 2436 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นพระยาสโมสรสรรพการ ตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงโยธา- ธิการ ได้ไปตรวจซ่อมสายโทรเลขทางเมืองทวาย ตั้งแต่เมืองนครปฐมจนถึงชายแดน เมื่อกลับมากรุงเทพฯ แล้วได้ออกจากกระทรวงโยธาธิการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้ากรมแสงสรรพาวุธ ในกระทรวงพระกลาโหม แล้วเป็นเจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก ขึ้นไปตรวจการก่อสร้างโรงทหารมณฑลพายัพ โรงทหารที่เมืองนครราชสีมา ถึงรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายพลตระเวนทหารบก โปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างโรงทหารใกล้สถานีต้นสำโรง
ผลงานของพระยาสโมสรสรรพการที่ได้ทำไว้ได้แก่ เป็นนายด้านสร้างตึกถาวรวัตถุหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นผู้คิดทำชนวนปืนใหญ่ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์ สามารถคำนวณสุริยาตร์สารัมภ์อีกด้วย
ในด้านพระศาสนา ได้สร้างศาลาที่วัดพระแท่น สร้างพระอุโบสถวัดจมูสโมสร เมืองนครราชสีมา พระอุโบสถ กุฎิ และเขื่อนหน้าวัดสามประทวน เมืองนครปฐม พระอุโบสถ กุฎิ ศาลาการเปรียญ วิหาร ถนนและสะพานในวัดแจ้ง เมืองนนทบุรี ได้เป็นมัคนายกวัดระฆังโฆสิตาราม
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงประกอบรูปที่ 80 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภาพปฏิสังขรณ์มณฑปพระพุทธบาท
2. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
โคลงนารายณ์สิบปาง ปางที่ 9 มหัลลกอสุราวตาร พระนารายณ์อวตารเป็นอสูรแก่ปลูกต้นไม้ลวงเอาพระอุมาคืนจากทศกัณฐ์ แต่งร่วมกับขุนพินิจจัย(อยู่) ขุนศรีราชอักษร,หมื่นนิพนธไพเราะ และหมื่นพากยโวหาร (ฤกษ์) จำนวน 98 บท
โคลงนารายณ์สิบปาง ปางที่ 10 รามาวตาร พระนารายณ์อวตารเป็นพระรามมาปราบทศกัณฐ์ แต่งร่วมกับหม่อมราชวงศ์พระเจริญ วัดระฆัง จำนวน 56 บท
ห้องที่ 30 – 31 รวมโคลง 56 บท เนื้อความตั้งแต่หนุมาน สุครีพ และองคตไปลงกาจนถึงนกสัมพาทีนำทางทั้งสามกลับจากเมืองลงกา
ห้องที่ 118 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่พระรามเตรียมกลับอยุธยาจนถึงพระรามประทับในเมืองขีดขิน
3. เสภาอาบูหะซัน ตอนที่ 10
4. โคลงความโง่ ในโคลงว่าด้วยของสิ่งเดียว ภายหลังนำไปรวมพิมพ์ใหม่ใช้ชื่อว่า โคลงพิพิธพากย์
5. โคลงศัพท์โสโครกสะอาด ในโคลงว่าด้วยของสองสิ่ง ภายหลังนำไปรวมพิมพ์ใช้ชื่อว่า โคลงอุภัยพากย์
6. แก้โคลงกระทู้ บทที่ 12 ทุ สุ มุ ดุ ได้รับรางวัล และบทที่ 31 ธุ ระ ปะ ปัง ได้รับรางวัล ที่ 2
7. นิราศเมืองพังงา
8. คำแก้โคลงทาย โคลงที่ 5-6, 13-14, 18, 19-20, 27-28, 53-58, 79-80, 87-88
9. เรื่องขรัวเพชกับประสกสีกาแก้ว
ผู้เรียบเรียง
บุหลง ศรีกนก, พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา, 2522.
นิบาตชาดก เล่ม 10 นวกนิบาตและทสกนิบาต. พระนคร : ราชบัณฑิตยสภา, 2472. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลโท พระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์) เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 247)
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. ทำนียบผู้บริหารหอพระสมุดวชิรญาณและเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2424-2476. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2543.
ราชกิจจานุเบกษา พ.ศ. 2469 เล่ม 43.
คำสำคัญ