ภิกษุอินท์เป็นพระภิกษุชาวเมืองนครศรีธรรมราช ไม่ปรากฏประวัติของพระภิกษุรูปนี้ แต่ในตอนท้ายของวรรณคดีเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์* ฉบับหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่าฉบับภิกษุอินท์และพระยาราชสุภาวดี มีตอนหนึ่งกล่าวถึง “ชิโนรสพระนามอินท” ซึ่งน่าจะหมายถึงพระภิกษุชื่ออินท์ ดังคำประพันธ์ที่ว่า
นางกฤษณานารถ ก็มีเรื่องบริบูรณ์
สมุดเดิมก็เศร้าสูญ สลายลบบเป็นผล
เชิญเราชิโนรส พระนามอินทนิพนธ
พจนารถอนุสนธิ จำหลักฉันทจองกลอน
ข้อความที่กล่าวว่ากฤษณาสอนน้องคำฉันท์* มีเรื่องบริบูรณ์อยู่แล้ว แต่สมุดเดิมชำรุดเลอะเลือน แสดงว่าภิกษุอินท์มิได้เป็นผู้ประพันธ์กฤษณาสอนน้องคำฉันท์* ขึ้นใหม่ และเมื่อเทียบกับฉบับพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็เห็นชัดว่าเนื้อความตรงกันแทบทุกตัวอักษร ดังนั้น ภิกษุอินท์จึงน่าจะเป็นเพียงผู้คัดลอกกฤษณาสอนน้องคำฉันท์* ลงสมุดเล่มใหม่เพื่อเก็บรักษาเป็นสมบัติทางวรรณศิลป์ ตามที่พระยาราชสุภาวดีได้อาราธนาไว้ ในตอนท้ายเรื่องภิกษุอินท์ได้แต่งอินทรวิเชียรฉันท์ 9 บท และวสันตดิลกฉันท์อีก 7 บท กล่าวถึงจุดประสงค์ ที่มา และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสร้างวรรณคดีฉบับนี้
กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ของภิกษุอินท์และพระยาราชสุภาวดี, กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และวินิจฉัยเรื่องกฤษณาสอนน้อง พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สาระศึกษา, 2516