รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
หม่อมเจ้าพระประภากรบวรวิสุทธิวงศ์
เกิด
วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2398
เสียชีวิต
วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2445
ประวัติ
พระนามเดิม หม่อมเจ้าประภากร นามฉายาว่า ปภากโร เป็นโอรสสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ (ต้นราชสกุลมาลากุล) กับหม่อมทรัพย์ เมื่อเยาว์วัย เสด็จไปศึกษาที่สำนักวัดบวรนิเวศ แล้วเลยทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อมีชันษา 15 ปี ครั้นถึงพ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผนวชเป็นนาคหลวง ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระปริยัติธรรมธาดา (ชัง) เข้าแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค ถึงพ.ศ. 2424 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ ต้นพระนามคงเดิม เพิ่มสร้อยพระนามว่า หม่อมเจ้าพระประภากรบวรวิสุทธิวงศ์
ทรงลาสิกขาเมื่อพ.ศ. 2429 ภายหลังจากเสร็จสิ้นงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์แล้ว ออกมาประทับที่วังกลาง มีตำหนักอยู่ทางหลังวัง ใกล้กับกำแพงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
หม่อมเจ้าประภากรมีความรู้สูง จึงได้เข้ารับราชการในกรมราชเลขาธิการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้ถวายพระอักษรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และเจ้านายอีกบางพระองค์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งดำรงพระยศพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเข้ามาบัญชาการกรมศึกษาธิการเมื่อพ.ศ. 2430 จึงทรงชวนหม่อมเจ้าประภากรมาทำงานทางฝ่ายกรมศึกษาธิการด้วย ทำให้ได้มีส่วนช่วยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์แบบเรียนเร็วด้วย ทรงดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมศึกษาธิการคนแรก ตั้งแต่ยังไม่มีอธิบดี และยังไม่ได้ตั้งกระทรวงธรรมการ และดำรงตำแหน่งนี้มาจนสิ้นชีพิตักษัย ในระยะหลังทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชบัณฑิตอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อมาพ.ศ. 2436 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีด้วย
นอกจากนี้ หม่อมเจ้าประภากรยังทรงดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมุรธาธร เจ้ากรมฐานันดร และผู้กำกับเวรพระราชพิธี ทรงได้รับเกียรติยศและหน้าที่พิเศษคือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเลขานุการของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) มัณฑนาภรณ์มงกุฎสยาม (ต.ม. ปัจจุบัน) และภูษณาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช. ปัจจุบัน)
หม่อมเจ้าประภากรทรงปฏิบัติงานหลายหน้าที่ งานที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นอันมากและทรงปฏิบัติจนเกิดผลดีมาก คืองานหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมสัมปาทิกถึง 5 ครั้ง 5 ปี โดยแต่ละครั้งทรงดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยเหรัญญิก ผู้ช่วยบรรณารักษ์ เลขาธิการ ผู้ช่วยสาราณียกร และเป็นเลขาธิการอีกครั้งหนึ่ง ตามลำดับ
ในระหว่างพ.ศ. 2444-2445 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กำลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังดุสิต และวัดเบญจมบพิตรนั้น มีพระราชดำริที่จะสร้างตำหนักให้หม่อมเจ้าประภากรหลังหนึ่ง ที่ใกล้ๆ วัดเบญจมบพิตร เพื่อที่จะให้ทรงสอนวิชาภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตแก่พระภิกษุสามเณรในวัดเบญจมบพิตร แต่พระราชดำรินั้นไม่บรรลุผล เพราะหม่อมเจ้าประภากรได้ประชวรด้วยไข้มาเลเรีย สิ้นชีพิตักษัยเสียก่อน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ชนมายุได้ 47 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
1. โคลงอวยพรปีใหม่
2. โคลงยกย่องหอพระสมุดวชิรญาณ
3. นิทานวากยวลี อย่างที่ 1
4. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
โคลงประกอบรูปที่ 5 แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ภาพพระอินทราชาชนช้างกับหมื่นนคร
โคลงประกอบรูปที่ 37 แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาพพวกหัวเมืองทำสัตย์ที่เมืองลำพูน
5. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ห้องที่ 172 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่ท้าวคนธรรพ์ออกเที่ยวป่าจนถึงท้าวคนธรรพ์ยึดเมืองไกยเกษ
ห้องที่ 174 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่เมืองอยุธยาทราบข่าวเมืองไกยเกษจนถึงพระพรต พระสัตรุต พระมงกุฎ และพระลบเตรียมจัดทัพไปช่วยเมืองไกยเกษ
6. บทดอกสร้อยสุภาษิต บทไก่แจ้
7. วชิรญาณสุภาษิต
8. อธิบดีกรมช้าง ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์
9. โคลงความนับถือ ในวชิรญาณเล่ม 4
10. โคลงศัพท์ขวาซ้าย ในวชิรญาณเล่ม 5
11. โคลงเฉลิมพระเกียรติร.5
ผู้เรียบเรียง
พลตรี หม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี
เอกสารอ้างอิง
ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. หม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์. ม.ป.ท, 2514.
เรื่องบทดอกสร้อยสุภาษิต สุภาษิตพระร่วง และสุภาษิตอิสรญาณ. กรุงเทพฯ : ศรีอนันต์การพิมพ์, 2541. (คณะสงฆ์จังหวัดสระบุรีจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระครูประดิษฐ์สรธรรม (สงัด ญาณวีโร) 28 กุมภาพันธ์ 2541)
ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี ม.ร.ว. และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพฯ : บรรณกิจ 1991, 2549.
คำสำคัญ