รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
เกิด
วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329
เสียชีวิต
ประวัติ
สุนทรภู่ (มาจากชื่อเดิมคือ “ภู่” รวมกับราชทินนามคือ “สุนทรโวหาร” เป็น “สุนทรภู่”) เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถานที่เกิดคือบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าบิดาของสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แต่มีผู้เชื่อว่าบิดาของสุนทรภู่เป็นชาวเพชรบุรี ส่วนมารดานั้นสันนิษฐานว่าอพยพจากกรุงศรีอยุธยาสมัยเสียกรุงมาตั้งรกรากอยู่ที่กรุงธนบุรี ต่อมาบิดามารดาหย่ากัน บิดาไปบวชอยู่ที่เมืองแกลง มารดามีสามีใหม่และมีบุตรสาวอีกสองคนชื่อฉิมกับนิ่ม หลังจากนั้นมารดาก็เข้าวังไปเป็นพระนมพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศร กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข สุนทรภู่จึงได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลังตั้งแต่เด็ก
สุนทรภู่เริ่มเรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ริมคลองบางกอกน้อย เมื่อมีความรู้พอจะทำงานได้ก็ไปเป็นเสมียนนายระวาง กรมพระคลังสวน ต่อมาออกจากงานเสมียนกลับมาพำนักอยู่ที่พระราชวังหลัง และลักลอบคบหากับนางในชื่อจัน จนต้องโทษถูกจองจำ เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตในปี พ.ศ. 2349 สุนทรภู่จึงเดินทางไปบวชอยู่กับบิดาที่เมืองแกลง และแต่งนิราศเมืองแกลง* ขึ้นเป็นนิราศเรื่องแรก เมื่อกลับจากเมืองแกลง สุนทรภู่ได้มาเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์พระโอรสของกรมพระราชวังหลังซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดระฆัง พระอัครชายากรมพระราชวังหลังประทานนางจันให้เป็นภรรยาของสุนทรภู่ ในปลายรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สุนทรภู่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่จึงได้แต่ง สวัสดิรักษาคำกลอน* ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ไม่ได้รับราชการ จึงบวชเป็นภิกษุ ระหว่างนั้น เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระมารดาพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ โปรดให้สุนทรภู่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋ว ภายหลังสุนทรภู่ได้รับการอุปการะจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สุนทรภู่เป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร สุนทรภู่ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ได้ 5 ปี ก็ถึงแก่กรรมพ.ศ. 2398 อายุได้ 70 ปี สุนทรภู่เป็นกวีที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศในการแต่งกลอนแปด
ในพ.ศ. 2529 เนื่องในวาระครบ 200 ปีเกิดของสุนทรภู่ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องเกียรติคุณให้สุนทรภู่เป็นเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
ผลงาน / งานประพันธ์
นิราศ
1. นิราศเมืองแกลง
2. นิราศพระบาท
3. นิราศภูเขาทอง
4. โคลงนิราศสุพรรณ
5. นิราศวัดเจ้าฟ้า
6. นิราศอิเหนา
7. นิราศพระประธม
8. นิราศเมืองเพชร
9. รำพันพิลาป
นิทาน
1. นิทานเรื่องโคบุตร
2. นิทานเรื่องพระอภัยมณี
3. นิทานเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา
4. นิทานเรื่องลักษณวงศ์
5. นิทานเรื่องสิงหไตรภพ
สุภาษิต
1. สวัสดิรักษา
2. เพลงยาวถวายโอวาท
บทละคร ได้แก่ บทละครเรื่องอภัยนุราช
บทเสภา
1. บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
2. เสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร
บทเห่กล่อม (ใน บทเห่กล่อมพระบรรทมและเรื่องจับระบำ)
1. บทเห่เรื่องจับระบำ
2. บทเห่เรื่องกากี
3. บทเห่เรื่องพระอภัยมณี
4. บทเห่เรื่องโคบุตร
ผู้เรียบเรียง
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต, ณัฐกาญจน์ นาคนวล
เอกสารอ้างอิง
เจือ สตะเวทิน. สุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2530.
ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. ชีวประวัติและผลงานของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 3. โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการร่วมกับศูนย์ภาษาและวรรณคดีไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ชีวิตและผลงานของสุนทรภู่. พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2543.
คำสำคัญ