พระราชโอรสองค์ที่ 57 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม พระสนมเอก เมื่อพระองค์เจ้าดิศวรกุมารมีพระชนมายุครบ 13 ปี ทรงโสกันต์และทรงผนวชเป็นสามเณร ประทับจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ซึ่งทรงรอบรู้ในวิชาโบราณคดีเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระองค์เจ้าดิศวรกุมารทรงเข้าศึกษาวิชาการทหารในโรงเรียนนายร้อยทหารบกในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อจบหลักสูตร 1 ปี ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี ทหารมหาดเล็ก พระองค์เจ้าดิศวรกุมารได้ทรงเข้ารับราชการเป็นทหารในพ.ศ. 2419 หลังจากทรงรับราชการทหารได้ 7 ปี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ แล้วเสด็จไปจำพรรษาที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ในระหว่างจำพรรษาทรงรับหน้าที่จัดการโรงเรียนของวัด ทรงริเริ่มการสอนศีลธรรม และทรงขอให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งคำกลอนบทสวดคุณานุคุณให้นักเรียนใช้สวด ซึ่งเป็นบทสวดที่เข้าใจง่าย แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ยังทรงแต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยชื่อ “แบบเรียนเร็ว” โดยปรับปรุงให้เหมาะแก่เด็กในชนบทซึ่งมีเวลาเรียนน้อยกว่านักเรียนในกรุงเทพฯ
พ.ศ. 2429 ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้ทรงย้ายไปดำรงตำแหน่งเสนาบดี กระทรวงธรรมการ ซึ่งสถาปนาขึ้นจากกรมศึกษาธิการ เนื่องจากทรงเป็นธุระในการจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และโรงเรียนอื่น ๆ ตลอดจนทรงทำนุบำรุงการศึกษาจนได้เป็นที่พอพระราชหฤทัย
กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงสนองพระบรมราโชบายในการจัดการศึกษา จัดหาแบบเรียน จัดการสอบไล่ ทรงรับกระแสพระบรมราชโองการเรื่องการจัดการศึกษาทวยราษฎร์ โดยทรงตั้งโรงเรียนวัดมหรรณพารามเป็นแห่งแรก ทรงแก้ปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณ หลักสูตร การบริหารการศึกษา การจัดการศึกษา ห้องสมุด บุคลากร การให้รางวัลนักเรียนเรียนดี ครูที่สอนดี และโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้ดี ฯลฯ
พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นดำรงราชานุภาพย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงจัดตั้งกรมต่าง ๆ เช่น กรมป่าไม้ กรมราชโลหกิจ กรมแผนที่ ในระหว่างนั้นได้ทรงจัดการเรื่องการศึกษาในหัวเมืองด้วย ทรงจัดตั้งโรงเรียนมหาดเล็กสำหรับนักเรียนที่ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก แยกจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือนที่ตั้งขึ้นเพื่อฝึกคนเข้ารับราชการ และทรงตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นด้วย
พ.ศ. 2442 ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ต่อมาในพ.ศ. 2454 ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ต่อมาทรงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากประชวรจนแพทย์ถวายความเห็นว่าไม่ควรทรงงานหนัก แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งทรงมีส่วนร่วมในการดำเนินการมาตั้งแต่แรก ทรงเคยเป็นสภานายกและกรรมการตำแหน่งต่าง ๆ หลายครั้ง ซึ่งทำให้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งสารคดี บันเทิงคดี ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองลงพิมพ์ในหนังสือของหอพระสมุด
เมื่อกรมพระดำรงราชานุภาพทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้ทรงรวบรวมหนังสือที่กระจัดกระจายในที่ต่าง ๆ มาเก็บไว้ในหอสมุดเป็นจำนวนมาก และทรงสนับสนุนให้มีการพิมพ์หนังสือเหล่านั้นเผยแพร่ออกไปสู่ผู้อ่าน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งราชบัณฑิตยสภาในพ.ศ. 2469 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งนายกสภา ทรงดำเนินการให้ออกกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานและพระราชบัญญัติว่าด้วยการส่งวัตถุโบราณและศิลปวัตถุออกนอกประเทศ ส่วนในด้านวรรณคดี นอกจากทรงขยายงานของหอพระสมุดสำหรับพระนครและทรงติดต่อไปยังหอสมุดทั่วโลกเพื่อรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องของไทยแล้ว ทรงตั้งสมาคมวรรณคดีขึ้นเพื่อประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตร่วมกันวินิจฉัยภาษาและวรรณคดีไทย
พ.ศ. 2472 ทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ งานที่ทรงดำเนินการค้างไว้คือการตั้งหอรูปและหอจดหมายเหตุ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้ทรงพ้นจากตำแหน่งสภานายกราชบัณฑิตสภา หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงออกจากราชการ และหลังจากเกิดกบฏบวรเดช ได้เสด็จไปประทับที่ปีนังในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2485 จึงเสด็จกลับประเทศไทย
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2486 พระชนมายุได้ 81 ปี ทรงเป็นต้นราชสกุลดิศกุล
ในพ.ศ. 2505 เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 ปี องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศเกียรติคุณให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นบุคคลดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก
เรื่องมูลเหตุ
1. มูลเหตุการณ์แต่งเรื่องปัญหาพยากรณ์
2. มูลเหตุที่การทำบัญชีเรื่องหนังสือซึ่งมีอยู่ในหอพระสมุดฯเป็นของยาก
3. มูลเหตุการณ์แปลนิบาตชาดก
4. มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต่างประเทศเป็นครั้งแรก
5. ต้นเหตุของหมายรับสั่งเรื่องรับเซอร์ยอนเบาริง
6. มูลเหตุและวิธีการที่ไทยรบกับลาวเมืองเวียงจันทน์ ครั้งเจ้าอนุในรัชกาลที่ 3
ฯลฯ
ตำนาน
1. ตำนานเทศน์มหาชาติ
2. ตำนานรำโคม
3. ตำนานมโหรี
4. ตำนานละครอิเหนา
5. ตำนานละครดึกดำบรรพ์
6. ตำนานหนังสือปัญญาสชาดก
7. ตำนานหนังสือสังคีติยวงศ์
8. ตำนานหนังสือมิลินทปัญหา
9. ตำนานหนังสือจดหมายเหตุหมอบลัดเล
10. ตำนานหนังสือตำราพิชัยสงคราม
11. ตำนานวังหน้า
ฯลฯ
ประวัติศาสตร์ โบราณคดี
1. ไทยรบพม่า
2. เที่ยวเมืองพม่า
3. นิราศนครวัด
4. นิทานโบราณคดี
5. จดหมายเหตุเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
6. ราชสกุลวงศ์
7. จดหมายเหตุเรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5
ฯลฯ
ลัทธิธรรมเนียมและประเพณี
1. เรื่องประเพณีและพิธีการทำขวัญ เรื่องเห่เรือในกระบวนพยุหยาตรา
2. ประเพณีมีพระราชปุจฉา
3. พิธีทวาทศมาส
4. กฎมณเฑียรบาลพม่า
5. ระเบียบตำนานลครเล่นถวายตัวที่วังวรดิศ
6. อธิบายว่าด้วยยศเจ้าและอธิบายว่าด้วยการเฉลิมพระยศเจ้านาย
7. จารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน*
ฯลฯ
ชีวประวัติ
1. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนเสวยราชย์
2. พระประวัติพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
3. ประวัติหลวงจักรปาณี (ฤกษ์)
4. เรื่องพระยาตรัง กวีในรัชกาลที่ 2
5. ประวัติสุนทรภู่
6. ความทรงจำ
ฯลฯ
จดหมายโต้ตอบ คือ สาส์นสมเด็จ (โต้ตอบกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2457 จนถึง พ.ศ. 2485 รวม 400 กว่าฉบับ) ให้พระยาอนุมานราชธน (โต้ตอบกับพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ)
โคลงกลอน
1. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม*
โคลงนารายณ์สิบปางปางที่ 4 มหิงสาวตาร พระนารายณ์อวตารเป็นกระบือเผือกเพื่อสังหารอสูรควาย นิพนธ์ร่วมกับขุนมหาสิทธิโวหาร(ห่วง) แต่งจำนวน 28 บท
ห้องที่ 51 รวมโคลง 28 บท เนื้อความตั้งแต่ทศกัณฐ์ให้ยกฉัตรวิเศษจนถึงสุครีพหักฉัตร
2. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร*
โคลงประกอบรูปที่ 81 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภาพทำสังคายนา
โคลงประกอบรูปที่ 89 แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ภาพองเชียงสือสามิภักดิ์
3. ฉันท์ถวายตอบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (เมื่อทรงพระประชวรเนื่องด้วยเหตุการณ์ รศ. 112)
4. ประกาศสังเวยเจดีย์ยุทธหัตถี
5. นิราศเมืองบันดอง
6. ฉันท์ทูลเกล้าฯ ถวายตอบในร.ศ. 112
7. บทดอกสร้อยสุภาษิต*
8. วชิรญาณสุภาษิต*
ฯลฯ
บันเทิงคดีร้อยแก้ว
1. ระเบียบการเล่นตำนานเสภา (เขียนเป็นแบบบทละคร มีตัวละครสนทนากัน)
2. นิทานเรื่องเลี้ยงเด็ก
3. นิทานกระทู้
เรื่องถุ่ย ถุ่ย, โข่ง
เรื่องนายโสมเฝ้าทรัพย์
เรื่องขี่ช้างจับตั๊กกระแตน
เรื่องตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้
เรื่องการอำนวยพร
เรื่องเทศกาลพระบาท
เรื่องเจ้าคุณประตูดิน
4. จดหมายนายทรงอานุภาพเล่าเรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งแรก*
ฯลฯ
การศึกษา
1. แบบเรียนเร็ว
2. ประวัติสังเขปแห่งการจัดการศึกษา
3. ปรัตยุบันแห่งประเทศสยาม
4. โรงเรียนสุนันทาลัย
ฯลฯ
พระโอวาท
1. พระโอวาทประทานที่โรงเรียนปัตตานี
2. พระโอวาทประทานในการพิธีเข้าประจำหน่วยอนุสภากาชาดที่โรงเรียนมัธยมวัดโสมนัส
ฯลฯ
ศาสนา
1.ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ
2. ตำนานพุทธเจดีย์สยาม
3. เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงษ์ในลังกาทวีป
ฯลฯ
การท่องเที่ยว
1. เที่ยวตามทางรถไฟ
2. เรื่องไปลังกาทวีป
3. เล่าเรื่องไปชะวาครั้งที่ 3
ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีพระนิพนธ์ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เช่น
- The Foundation of Ayudhya. The Journal of the Siam Society. Vol.1. (1940) pp. 7- 10.
- Ayudhya. Translated by Mom Chao Subhadradis Diskul. Thought and Words. pp. 48-50.
- Siamese Customs – Prince Damrong’s Lecture. The Bangkok Times Weekly Mail. ( January 21, 1931) p. 7.
- Histoire du Bouddhism au Siam. Extrême-Asie. No. 13 (Juillet) 1927. pp. 19-27.
- A Poetic Translation from the Siamese of Prince Damrong’s Reply in Verse to Rama 5. Translated by James N. Mosel. Journal of the Siam Society. Vol. XLVII Part I, June 1959.
- Our Wars With the Burmese. Journal of the Burma Research Society. Vol XL. (December 1975) Part II. Wat Benchamabopit and its collection of images of the Buddha.
พระนิพนธ์ที่ยังไม่ได้พิมพ์มีอีกหลายเรื่อง เช่น “จดหมายเหตุรายวันเล่าเรื่องเสด็จสุมาตราเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2576” และคำแนะนำการศึกษาเรื่อง “ประวัติพระบรมมหาราชวัง” ซึ่งทรงนิพนธ์ประทานแก่พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ระหว่างประทับที่ปีนัง พ.ศ. 2477 ทั้งสองเรื่องเป็นต้นฉบับพิมพ์ดีด รักษาไว้ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ พระนิพนธ์เรื่องสุดท้ายคือ “เรื่องลักษณะเรียกพระเจ้าแผ่นดิน” ซึ่งทรงร่างด้วยดินสอดำค้างไว้ในกระดาษร่างก่อนสิ้นพระชนม์ประมาณ 1 เดือน ยังวางอยู่บนโต๊ะทรงพระอักษร เก็บรักษาไว้ในหอสมุดดำรงราชานุภาพ