รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระยาศรีสุนทรโวหาร / น้อย อาจารยางกูร
เกิด
วันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365
เสียชีวิต
ประวัติ
พระยาศรีสุนทรโวหาร นามเดิม น้อย อาจารยางกูร เกิดวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เรียนหนังสือขั้นต้นกับพี่ชาย คือหลวงบรรเทาทุกขราษฎร์ (ไทย)
เมื่ออายุได้ 13 ปีเข้ามาอยู่ที่วัดสระเกศ ได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ 8 ปี เรียนภาษาไทย ภาษาขอม และภาษาบาลีจนเชี่ยวชาญ ทั้งยังได้ศึกษาคัมภีร์พุทธศาสนากับพระอาจารย์ในสำนักต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียง เช่นสำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) สำนักพระอุปธยาจาริยศุข สำนักสมเด็จพระพุทธาจริยา (สน) เป็นต้น เมื่ออายุครบได้อุปสมบทเป็นภิกษุและเข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค
ต่อมาได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมในสำนักแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้เป็นศิษย์ หลังจากนั้นได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะได้อีก 2 ประโยค รวมเป็น 7 ประโยค ดำรงสมณเพศอยู่ 11 พรรษา
เมื่อลาสิกขาแล้วได้เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็ก ต่อมาได้เป็นขุนประสิทธิอักษรสาตร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรมพระอาลักษณ์ ขณะนั้นตำแหน่งเจ้ากรมอักษรพิมพการว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้ากรมอักษรพิมพการด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งขุนสารประเสริฐปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ ทำหน้าที่กำกับพนักงานกองตรวจสอบทานหนังสือข้างที่ ครั้งนั้นพระเจ้านครเชียงใหม่นำช้างเผือกมาถวาย โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ขนานนามและแต่งฉันท์สมโภช และเมื่อมีช้างสำคัญเข้ามาสู่พระบารมีอีกหลายช้างก็โปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้ขนานนามช้างและแต่งฉันท์กล่อมช้างเหล่านั้น
ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุนทรโวหารเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราวุธ รวมทั้งพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์อื่น ๆ ด้วย และในพ.ศ. 2430 พระยาศรีสุนทรโวหารได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี และได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยดีตลอดมา
พระยาศรีสุนทรโวหารถึงแก่อนิจกรรมในพ.ศ. 2434 อายุได้ 70 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
หนังสือเรียนภาษาไทย
1. มูลบทบรรพกิจ
2. วาหะนิติ์นิกร
3. อักษรประโยค
4. สังโยคพิธาน
5. พิศาลการันต์
6. อุไภยพจน์
7. นิติสารสาธก เล่ม 1
8. สังโยคพิธานแปล
9. กลอนพิศาลการันต์
10. ไวพจน์ประพันธ์
11. ไวพจน์พิจารณ์
12. พรรณพฤกษา
13. สัตวาภิธาน
14. ปกีรณำพจนาดถ์
15. อนันตวิภาค
16. สยามสาธกวรรณสาทิศ
ตำราฉันทลักษณ์
1. ฉันทวิภาค
2. วรรณพฤติคำฉันท์
ความเรียงร้อยแก้ว
1. วิธีสอนหนังสือไทย
2. มหาสุปัสสีชาดก
ฉันท์กล่อมช้าง (ใน คำฉันท์ดุษฎีสังเวย*)
1. ฉันท์กล่อมพระเสวตรวรพรรณ
2. ฉันท์กล่อมพระมหารพีพรรณคชพงษ์ (ลาที่ 1 และลาที่ 2)
3. ฉันท์กล่อมพระเสวตรสุวภาพรรณ
4. ฉันท์กล่อมพระเทพคชรัตน์กรินีและพระศรีสวัสดิเสวตรวรวรรณ
5. ฉันท์กล่อมพระเสวตรวรลักษณ์
6. ฉันท์กล่อมพระเสวตรวรสรรพางค์และพระเสวตรวิสุทธิเทพามหาพิฆเนศวร์
7. ฉันท์กล่อมพระเสวตรสุนทรสวัสดิ
8. ฉันท์กล่อมพระเสวตรสกลวโรภาษ
ร้อยกรองคำนมัสการ ได้แก่ คำนมัสการคุณานุคุณ
โคลง
1. โคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ห้องที่ 1 – 3 รวมโคลง 84 บท เนื้อความตั้งแต่ท้าวชนกหานางสีดาจนถึงพระราม พระลักษณ์เสด็จมาเมืองมิถิลา
2. ลิลิตและคาถาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. ร่ายชื่อช้างประจำทิศ
4. เสภาอาบูหะซัน ตอนที่ 7
5. โคลงภาพพระราชพงศาวดาร
แต่งบานแผนกเป็นร่ายแถลงนามผู้แต่งและโคลงกำกับ
โคลงประกอบรูปที่ 65 แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ภาพพระยาตานีส่งต้วเจ้านครถวาย
6. โคลงความเบื่อหน่าย โคลงความเย่อหยิ่ง และโคลงความอาลัย ในโคลงสุภาสิตใหม่
7. โคลงว่าด้วยต้นปลาย (ต่อมาพิมพ์รวมในโคลงอุภัยพากย์) และโคลงว่าด้วยกำหนดอายุอย่างไทยแลอย่างลาว
8. แก้โคลงกระทู้ บทที่ 10 อุ สา นา รี และบทที่ 13 หัว ล้าน นอก ครู
9. คาถาแปลเป็นโคลง
10. อีสปกรณัม โคลงสุภาษิตประกอบนิทานอิสป 12 บท ในนิทาน 12 เรื่อง (เรื่องละบท ได้แก่เรื่อง ค้างคาวกับวีเซล ลากับตั๊กแตน สุนัขป่ากับนกกะเรียน คนเผาถ่านกับช่างฟอก เด็กจับตัวเพลี้ยะ ไก่กับพลอย มดกับตั๊กแตน นายประมงเป่าขลุ่ย สุนัขกับเงา ลูกตุ่นกับแม่ตุ่น นกแซงแซวกับกา ชาวนากับงู) จากพระราชนิพนธ์แปลนิทานอิสป 24 เรื่อง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. หนังสือชุดวรรณกรรมภาษิตและคำสอน ประชุมโคลงสุภาษิตในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ, 2542.
มหาสิทธิโวหาร, หลวง. “ศรีสุนทราณุประวัติ.” ภาษาไทย เล่ม 2. พระนคร : คลังวิทยา, 2504.
รัชนี ทรัพย์วิจิตร. สารบาญวชิรญาณวิเศษ. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, 2545.
ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 110 เล่ม 8.
ศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พระยา. ภาษาไทย. พระนคร : คลังวิทยา, 2504.
________. ภาษาไทย เล่ม 2. พระนคร : สำนักพิมพ์คลังวิทยา, 2504.
คำสำคัญ