รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)
เกิด
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2392
เสียชีวิต
วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2463
ประวัติ
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ นามเดิม พร บุนนาค เป็นบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับหม่อมอิน เกิดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2392 ที่จังหวัดชุมพร จึงได้ชื่อว่า ชุมพร แต่เรียกกันว่า “พร”
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ถึงแก่พิราลัย เจ้าพระยาภาสกรวงศ์มีอายุเพียง 4 ปี เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) พี่ชายต่างมารดาจึงรับอุปการะให้ศึกษาเล่าเรียนที่สำนักพระอาจารย์แก้ว วัดประยุรวงศาวาส เมื่ออายุ 15 ปี ได้เดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 3 ปี และในพ.ศ. 2409 เมื่อคณะราชทูตไทยได้เดินทางไปอังกฤษ นายพรได้ทำหน้าที่เป็นล่าม และได้เดินทางกลับเมืองไทยพร้อมกัน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งเดิมของหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว.กระต่าย อิศรางกูร) ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายราชาณัตยานุหาร ตำแหน่งหุ้มแพรพิเศษในกรมพระอาลักษณ์ และได้อาศัยช่วงเวลานี้ศึกษาความรู้จากสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายราชาณัตยานุหารได้เลื่อนตำแหน่งเป็นว่าที่จมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก จนถึงพ.ศ. 2416 จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาภาสกรวงศ์วรราชาณัติ นฤปรัตนสุปรีย์ ราชเลขานุการ ว่าที่จางวางมหาดเล็ก และบังคับการกรมทหารมหาดเล็กด้วย
พระยาภาสกรวงศ์เป็นผู้มีความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ตามเสด็จประพาสต่างประเทศ เช่น ชวา อินเดีย เคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไปยังราชสำนักหลายประเทศในยุโรปและประเทศญี่ปุ่น เป็นอธิบดีกรมพระคลังสวน อธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม อธิบดีกรมบัญชีกลาง เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ในพ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ต่อมาย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ จนถึงพ.ศ. 2445 จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ลาออกรับพระราชทานเบี้ยบำนาญ
ภรรยาของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์คือท่านผู้หญิงเปลี่ยน ธิดานายสุดจินดา (พลอย ชูโต) เป็นสตรีที่มีชื่อเสียงได้รับยกย่องในด้านงานสาธารณกุศล คือริเริ่มก่อตั้งสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน)
เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 อายุได้ 71 ปี
ผลงาน / งานประพันธ์
1. กาพย์เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ใน กลอนจารึกแต่งประทีปที่บางปะอิน
2. ลิลิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
3. เรื่องนายจิตรกับนายใจสนทนากัน (พิมพ์รวมใน ร้อยแก้วแนวใหม่)
4. วชิรญาณสุภาษิต*
5. โคลงชมเกาะสีชัง แต่งถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อเสด็จประพาสเมืองจันทบุรี
6. ลิลิตสุภาษิตแสดงญาติสามัคคี แต่งเป็นคำนำในหนังสือวชิรญาณวิเศษ
7. สุภาษิตคำลา แต่งเป็นคำนำในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เป็นฉบับที่ครบวาระหน้าที่กรรมการหอพระสมุด
8. โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ตอนมหาสวามิศราธิบดี
9. โคลงศัพท์บนล่าง ในโคลงอุภัยพากย์ ซึ่งรวมพิมพ์จากโคลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษ
10. เรื่องอินเวสเตอร์แมนต์
11. ความเชื่อแน่
12. เรื่องสวน
ผลงานแปล
1. จดหมายเหตุทูตฝรั่งเศสเข้ามากรุงทวารวดี
2. ปฐมบรรพบุรุษ แปลจากพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ปิยนาถ บุนนาค. “ประวัติของตระกูลบุนนาค.” ใน ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นางพินิตพาหนะเวทย์ (ทองอยู่ บุนนาค) ณ ฌาปนสถานกองทัพบก วัดโสมนัสวิหาร วันที่ 2 มิถุนายน 2531. กรุงเทพฯ : วิคตอรี่เพาเวอร์พอยท์, 2531.
ภาสกรวงศ์, เจ้าพระยา. คำกลอนของเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค). กรุงเทพฯ : โสภณพิรรฒธนากร, 2465. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. 2465)
เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. พระนคร : สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2512. (คณะรัฐมนตรีจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2512)
ราชกิจจานุเบกษา จ.ศ. 111 เล่มที่ 9.
คำสำคัญ
พร , บุนนาค , นายราชาณัตยานุหาร , หุ้มแพรพิเศษในกรมพระอาลักษณ์ , ว่าที่จมื่นศรีสรรักษ์ , พระยาภาสกรวงศ์วรราชาณัติ นฤปรัตนสุปรีย์ , อธิบดีกรมพระคลังสวน , อธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม , อธิบดีกรมบัญชีกลาง , เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ , เสนาบดีกระทรวงธรรมการ