รหัสชุดข้อมูล
ชื่อ - สกุล
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เกิด
วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279
เสียชีวิต
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352
ประวัติ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระนามเดิม ด้วง หรือทองด้วง เป็นบุตรพระอักษรสุนทร (ทองดี) ข้าราชการกรมอาลักษณ์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เสนาบดีกรมพระคลังในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับท่านหยก ธิดาเศรษฐีจีน มีพระบรมราชสมภพเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ต่อมาได้ทรงรับราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต จนพระชนมพรรษาครบ 21 พรรษา ได้ทรงผนวช ณ วัดมหาทลายพรรษาหนึ่ง หลังจากทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอีกครั้ง ครั้นพระชนมพรรษาได้ 25 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยาศน์อมรินทร์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ออกไปรับราชการที่เมืองราชบุรี
ใน พ.ศ. 2311 หลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้ามารับราชการในกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชวรินทร์ ในกรมพระตำรวจหลวง ได้โดยเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไปปราบก๊กต่าง ๆ จนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ จางวางกรมพระตำรวจ
ต่อจากนั้นทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นแม่ทัพไปปราบหัวเมืองต่าง ๆ หลายครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบำเหน็จความชอบให้เป็นพระยายมราช และทรงทำหน้าที่สมุหนายกด้วย
ในปีต่อมาทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก รับพระราชทานเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม
ครั้น พ.ศ. 2324 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกต้องยกทัพกลับจากเขมรเพื่อปราบจลาจล และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 และทรงสถาปนาพระราชวงศ์จักรีขึ้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมทุกด้านโดยมีพระราชประสงค์ให้กรุงรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณะวัดต่างๆ เช่นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และโปรดให้เชิญพระพุทธรูปโบราณตามหัวเมืองต่างๆมาประดิษฐานในพระนครด้วย
นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายโบราณสมัยอยุธยาที่เหลืออยู่ให้เป็นหมวดหมู่และประทับตราสามดวงไว้เป็นฉบับหลวง
ทางด้านศาสนาโปรดให้ชำระพระไตรปิฎกและคัดเป็นฉบับหลวงเพื่อเก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ภายในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 พระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา
ผลงาน / งานประพันธ์
1. กลอนบทละครเรื่องรามเกียรติ์
2. กลอนบทละครเรื่องดาหลัง
3. กลอนบทละครเรื่องอิเหนา
4. กลอนบทละครเรื่องอุณรุท
5. กลอนเพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง
นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์เรียบเรียงถวายซึ่งมีทั้งการคัดลอกและการแต่งใหม่ เช่น
1. ไตรภูมิโลกวินิจฉัย
2. ตำราพิชัยสงคราม
3. โคลงตำราช้าง
4. ราชนีติ
5. นิทานสิบสองเหลี่ยม
6. รัตนพิมพวงศ์
7. ชินกาลมาลี
8. สังคีติยวงศ์
9. จินดามณี
10. สามก๊ก
11. ไซ่ฮั่น
12. ราชาธิราช
13. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
14. กฎหมายตราสามดวง
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ประมวลพระราชนิพนธ์เบ็ดเตล็ดในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระนคร : โรงพิมพ์การรถไฟ, 2508.(พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ล. ประจวบ กล้วยไม้ (จมื่นเทพสุรินทร์) ณ เมรุวัดสังเวชวิศยาราม วันที่ 4 กันยายน 2508)
พิทยลาภพฤฒิยาลงกร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. พระพุทธยอดฟ้าทรงปรับปรุงบ้านเมือง. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จันวาณิชย์, 2527. (ทุน ณ อยุธยา จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
คำสำคัญ