หมื่นพรหมสมพัตสร นามเดิม มี เป็นบุตรพระโหราธิบดี ดังปรากฏกล่าวไว้ท้ายกลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว* ความว่า “ข้าพระพุทธเจ้า นายมี บุตรพระโหรา” ส่วนมารดาชื่อใดไม่ปรากฏ นายธนิต อยู่โพธิ์ สันนิษฐานว่าบิดาของนายมี คือพระโหราธิบดี (โลกเนต) พ.ศ.2300 - 2355 หรือพระโหราธิบดี (สมุ) พ.ศ.2300 - 2371 ในสมัยรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 2 แต่นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ กล่าวว่านายมีเป็นบุตรพระโหราธิบดี (ชุม) ซึ่งเป็นโหรมีชื่อว่าชำนาญวิชาสุริยาตรพยากรณ์ แตกฉานในอักษรสมัยทั้งเป็นอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุและสามเณร และมีสำนักอยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ช่วงเวลาที่นายมีบวชน่าจะได้เป็นศิษย์ของสุนทรภู่ ดังที่ได้เขียนเล่าไว้ในวรรณคดีที่แต่งหลายเรื่อง เช่น กล่าวไว้ในนิราศถลางว่า “ฉันเป็นศิษย์สุนทรยังอ่อนศักดิ์ พิไรรักมิ่งมิตรกนิษฐา” สำนวนกลอนของนายมีมีความไพเราะ กล่าวได้ว่าดีเลิศเทียบเคียงได้กับสุนทรภู่ จนทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดมาเป็นเวลานานว่าผลงานประพันธ์บางเรื่องของนายมี เช่น นิราศพระแท่นดงรัง* เป็นผลงานของสุนทรภู่ นอกจากนี้นายมียังมีความรู้ทางดนตรีและเป็นผู้บอกสักวาด้วย
ต่อมานายมีได้ลาสิกขาและได้เข้าเป็นมหาดเล็กช่างเขียนในกรมช่างเขียนมหาดเล็กฝ่ายพระบรมมหาราชวัง เมื่อมีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งใหญ่เมื่อพ.ศ.2374 นายมีเป็นผู้หนึ่งที่ได้แสดงฝีมือเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามทำให้ได้รับสมญานามว่า “นายมีลงกาใหม่” มีชื่อเสียงเลื่องลือเพราะได้แสดงฝีมือที่โดดเด่นและความคิดริเริ่มที่แปลกใหม่ในการเขียนภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ตอนพระวิศวกรรมลงมาสร้างพระนครลงกาใหม่ให้แก่ทศกัณฐ์
พ.ศ. 2387 นายมีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นพรหมสมพัตสร นายอากรเมืองสุพรรณ นายมีถึงแก่กรรมเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน สันนิษฐานว่าคงก่อนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
1. นิราศเดือน
2. นิราศถลาง
3. พระสุบิน ก กา
4. นิราศพระแท่นดงรัง
5. นิราศสุพรรณ
6. กลอนเพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
7. ทศมูลเสือโค หรือ เสือโค ก กา เรียกสั้นๆ ว่า ทศมูล
พรหมสมพัตสร(มี), หมื่น. ทศมูลเสือโค. ม.ป.ท., 2521. (วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตบพิตรพิมุข พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระสิรินันทมุนี (สนั่น ถาวโร ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข ณ เมรุวัดจักรวรรดิราชาวาส วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2521)