TLD-003-5376
อุณรุท (ชื่อตัวละคร)
อุณรุทเป็นตัวละครในบทละครเรื่องอุณรุท เป็นโอรสของท้าวไกรสุท*แห่งเมืองณรงกา*และเป็นนัดดาของท้าวบรมจักรกฤษณ์*ผู้ทรงเป็นองค์นารายณ์อวตาร เมื่อจำเริญวัยเป็นหนุ่ม ท้าวอุทุมราช*ได้ส่งนางศรีสุดา*มาถวายเป็นชายา
วันหนึ่งพระอุณรุทชวนนางศรีสุดาไปประพาสป่าพร้อมไพร่พลจำนวนมาก พระอินทร์*ให้พระมาตลี*แปลงกายเป็นกวางทองไปล่อ นางศรีสุดาเห็นก็อยากได้ ขอร้องให้พระอุณรุทจับกวางทองให้ กวางหนีไป พระอุณรุทจึงให้นางศรีสุดากลับเมืองณรงกาก่อน ส่วนพระองค์ไล่ตามกวางทองไปอย่างกระชั้นชิด เมื่อไปถึงต้นไทร กวางทองก็หายลับไปในพุ่มไม้ พระอุณรุทและไพร่พลพักแรมที่ใต้ต้นไทรนั้น ก่อนเข้าบรรทมพระอุณรุทบวงสรวงบูชาพระไทรเทพารักษ์ พระไทรพอใจคำบวงสรวงจึงอุ้มพระอุณรุทไปสมนางอุษา*ธิดาบุญธรรมของท้าวกรุงพาณ*แห่งเมืองรัตนา*เพราะเห็นว่าทั้งสองงามเหมาะสมกัน พระไทรร่ายเวทมนตร์ไม่ให้คนทั้งสองเจรจากันได้ ครั้นใกล้รุ่งพระไทรจึงพรากพระอุณรุทกลับไปไว้ที่ใต้ต้นไทรดังเดิม
เมื่อพระอุณรุทตื่นขึ้นไม่เห็นนางอุษาก็เที่ยวค้นหา เมื่อไม่พบก็กลับเมืองณรงกา ทุกข์โศกคิดถึงนางจนไม่ยอมสรงเสวย ท้าวไกรสุทพระชนกจัดหมอมารักษาก็ไม่หาย
ฝ่ายทางเมืองรัตนา เมื่อนางอุษาตื่นขึ้นและไม่เห็นพระอุณรุทก็ครวญหา นางศุภลักษณ์*พี่เลี้ยงจึงวาดรูปเทวดาและกษัตริย์เพื่อให้นางชี้ว่าเป็นชายใดที่ลอบมาสมนาง เมื่อรู้ว่าคือพระอุณรุท นางอุษาจึงให้นางศุภลักษณ์นำแหวนและสไบทรงไปถวายพระอุณรุทที่เมืองณรงกา พระอุณรุทจำแหวนและกลิ่นหอมของสไบทรงได้จึงยอมไปกับนางศุภลักษณ์ แล้วอยู่กับนางอุษาในปราสาท
วันหนึ่งทศมุข*โอรสท้าวกรุงพาณไปเยี่ยมนางอุษาที่ปราสาท พบพระอุณรุทอยู่กับนางอุษาก็โกรธ ต่อสู้กับพระอุณรุทแต่แพ้ พระอุณรุทไว้ชีวิตทศมุขตามคำขอของนางอุษา ทศมุขทูลท้าวกรุงพาณเรื่องพระอุณรุทลอบไปอยู่กับนางอุษา ท้าวกรุงพาณกริ้วจะรบกับพระอุณรุทแต่กาลานุราช*เสนาบดีห้ามไว้และแนะนำให้ท้าวกรุงพาณส่งสารเชิญท้าวกำพลนาค*ผู้เป็นสหายให้มาช่วยจับพระอุณรุท โดยกาลานุราชจะนำไพร่พลไปล้อมปราสาทนางอุษาไว้ไม่ให้พระอุณรุทหนีไปได้ระหว่างที่รอท้าวกำพลนาคไปยังเมืองรัตนา
ฝ่ายท้าวกำพลนาคแปลงกายเป็นใยลอยไปยังปราสาทของนางอุษา แล้วเลื้อยเข้ารัดร่างพระอุณรุทขณะหลับ นำตัวพระอุณรุทมาให้ท้าวกรุงพาณ ท้าวกรุงพาณขอให้กำพลนาครัดร่างพระอุณรุทติดกับยอดปราสาทเพื่อประจานและทรมานจนกว่าจะสิ้นชีวิต แล้วป่าวประกาศให้ทวยเทพมาดู
ทวยเทพแจ้งข่าวให้ท้าวบรมจักรกฤษณ์รู้ ท้าวบรมจักรกฤษณ์รีบทรงครุฑไปช่วย ท้าวกำพลนาคเห็นครุฑบินตรงมาก็กลัว รีบคลายร่างที่รัดพระอุณรุทออก แล้วหนีแทรกแผ่นดินไปทันที ท้าวบรมจักรกฤษณ์พร้อมด้วยครุฑทรงและพระอุณรุทจึงรบกับฝ่ายท้าวกรุงพาณ กาลานุราชนำทัพมาช่วยรบก็ถูกพระอุณรุทสังหาร ฝ่ายท้าวบรมจักรกฤษณ์รบกับท้าวกรุงพาณ ท้าวกรุงพาณบาดเจ็บล่าถอยกลับไป ท้าวบรมจักรกฤษณ์จึงนำพระอุณรุทไปยังปราสาทของนางอุษา และมอบเทพธำมรงค์แก่พระอุณรุทเพื่อใช้ปราบท้าวกรุงพาณ
เมื่อท้าวกรุงพาณรู้จากนางกำนัลว่าพระอุณรุทลอบไปอยู่กับนางอุษาอีกจึงยกพลไปล้อมปราสาทนางอุษา พระอุณรุทท้าท้าวกรุงพาณไปรบกันที่ยอดเขาอังชัน*ในป่าหิมพานต์* พระอุณรุทพานางอุษาเหาะนำไปก่อน เมื่อทั้งสองฝ่ายไปถึงเขาอังชันแล้ว พระอุณรุทรบกับท้าวกรุงพาณ ใช้พระขรรค์ฟันร่างของท้าวกรุงพาณขาดแต่ก็เกิดมีร่างใหม่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจนมีร่างท้าวกรุงพาณถึงพันร่าง พระอุณรุทรบจนเหนื่อยอ่อนและประสงค์จะไปสรงน้ำให้คลายเหนื่อย จึงเสกพระขรรค์เป็นวิชาธร (วิทยาธร) จำนวนหนึ่งโกฏิเข้ารบขัดตาทัพกับท้าวกรุงพาณในขณะที่พระอุณรุทพานางอุษาไปสรงน้ำในสระมุจลินท์*
เมื่อกลับไปยังสนามรบที่เขาอังชันอีกครั้ง พระอุณรุทใช้เทพธำมรงค์ตัดแขนท้าวกรุงพาณขาด 18 ข้างทำให้ท้าวกรุงพาณล้มลง ท้าวกรุงพาณสำนึกผิด ประจักษ์ว่าพระอุณรุทคือนัดดาขององค์นารายณ์อวตาร ก่อนตายท้าวกรุงพาณขอโทษและฝากนางอุษาและทศมุขให้พระอุณรุทช่วยดูแล พระอุณรุทเผาศพท้าวกรุงพาณที่เขาอังชันตามคำขอร้องของนางไวยกา*มเหสีของท้าวกรุงพาณ โดยแกว่งพระขรรค์อธิษฐานให้เป็นเมรุทองที่วิจิตรงดงาม
หลังจากนั้นพระอุณรุทตั้งทศมุขครองเมืองรัตนาแล้วพานางอุษากลับเมืองณรงกา เมื่อไปถึงเมือง นางศรีสุดาหึงนางอุษาจนเกิดวิวาทกันแต่พระอุณรุทไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองปรองดองกัน ท้าวไกรสุทอภิเษกพระอุณรุทกับนางทั้งสองโดยให้นางอุษาเป็นมเหสีฝ่ายขวาและนางศรีสุดาเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย
ต่อมาพรานกราบทูลพระอุณรุทว่าพบช้างป่า พระอุณรุทจึงไปคล้องช้าง ก่อนคล้องช้างได้ไปสระมุจลินท์เพื่อพบนางกินรีทั้งห้า คือ นางแก้วกินนรา* นางรัชฎา* นางสุวรรณ* นางจันทมาลี* และนางมณฑาเกสร* แล้วได้นางเป็นชายา วิชาธรวิรุญเมศ*เห็นพระอุณรุทสรงน้ำอยู่กับนางกินรีทั้งห้าก็คิดจะสังหารพระอุณรุทเพื่อชิงนางกินรี จึงให้ไพร่พลรุมรบพระอุณรุทแต่ถูกพระอุณรุทสังหารจนหมดรวมทั้งวิรุญเมศด้วย พระอุณรุทชวนนางกินรีทั้งห้าไปอยู่กับพระองค์ที่เมืองณรงกา แต่นางไม่ยอมไป พระอุณรุทจึงไปคล้องช้างโดยสัญญาว่าอีกไม่นานจะกลับมาหา เมื่อได้ช้างแล้วก็นำกลับเมือง ท้าวไกรสุทจัดให้มีงานสมโภชช้าง พระอุณรุทและมเหสีทั้งสองได้ครองเมืองณรงกาต่อมา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory