โคลงภาพคนต่างภาษา เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่อบรรยายภาพการแต่งกายของคนชาติพันธุ์ต่าง ๆ เดิมจารึกติดไว้ตามผนังเฉลียงสะกัดศาลารายรอบวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ปัจจุบันจารึกสูญเกือบหมดแล้ว ยังเหลือเพียง 2 แผ่น โคลงภาพคนต่างภาษาเป็นผลงานการประพันธ์ของกวีหลายคนซึ่งต่างก็แต่งคำบรรยายเป็นโคลงดั้นบาทกุญชร โดยมีการร้อยโคลงต่อเนื่องกันตั้งแต่ต้นจนจบ รวมเป็นโคลงจำนวน 64 บท เนื้อหาเป็นการบรรยายภาพการแต่งกายของคน 32 ชาติพันธุ์ ที่ทำประดับศาลารายหลังละ 2 รูป รวม 16 หลัง แต่ละภาพบรรยายด้วยโคลง 2 บท คน 32 ชาติพันธุ์ที่บรรยายนั้นมีทั้งชาวไทย ชาวยุโรป ชาวอัฟริกัน ชาวจีน ชาวญี่ปุ่น ชาวเกาหลี ชาวอาหรับ ชาวสิงหล ชาวตุรกี ชาวมอญ ชาวเขมร ชาวพม่า ชาวเงี้ยว(ไทยใหญ่) ชาวลาวยวน(ชาวล้านนา) และชาวกะเหรี่ยง เป็นต้น
การบรรยายภาพแต่ละชาติพันธุ์ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งกายอย่างชัดเจน นอกจากนี้บางภาพยังกล่าวถึงรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ถิ่นที่อยู่ การทำมาหากิน อาหารการกิน ลักษณะของผม ทรงผม บางภาพกล่าวถึงศาสนาที่นับถือตลอดจนการประพฤติปฏิบัติตามศาสนาหรือลัทธิที่นับถือด้วย นับเป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกลุ่มชนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี