ครวญถึงภาษาไทยเกิดจากพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมุ่งหวังให้คนไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง โดยไม่รับกระแสของวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาปะปนในภาษาไทย บทพระราชนิพนธ์ขึ้นต้นด้วยกลอนสุภาพซึ่งเป็นพระราชปรารภถึงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่า
โอ้พุทโธ่อนิจจาเจ้าข้าเอ๋ย กระไรเลยอ้นอั้นตันใจจิตร
หมดปัญญาหาพจน์หมดความคิด หมดทางแปลอังกฤษให้เปนไทย
อ่านหนังสือพิมพ์ไซร้ชวนให้เศร้า ภาษาเราแสนจนพ้นวิไสย
ต้องยืมคำสำนวนเขามาใช้ ระกะไปราวทรายชายนที
วานซืนเช้าเราอ่านออบเซอเวอร์ ตอนแปลข่าวรอยเตอร์ที่หนึ่งนี่
เรื่ององค์พระเจ้าชาห์กรุงปาซี ช่างอร่อยเหลือดีใดจะปาน
ต่อจากนั้นทรงเล่าเมื่อทรงถามเสมียนว่าเข้าใจเนื้อความข่าวโทรเลขรอยเตอร์ที่แปลเป็นไทยหรือไม่ เสมียนตอบว่าเข้าใจเท่าที่หนังสือพิมพ์เขียน มิได้เข้าใจความหมายลึกซึ้งของข่าวนั้นเลย เพราะหนังสือพิมพ์ใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษเสียเป็นส่วนมากโดยไม่อธิบายความหมายของคำศัพท์นั้น แต่ว่าเข้าใจเท่านี้ก็เพียงพอ เพราะฝรั่งเขาคิดการเป็นศิวิไลซ์ ที่ไทยไม่เข้าใจเพราะเรามีความรู้ไม่เท่าเขา และข้อความที่ลงนั้นดีแล้ว มิเช่นนั้นฝรั่งคงไม่เอามาลงในหนังสือพิมพ์ของเขา
พระองค์แสดงพระทรรศนะต่อไปว่าที่ทรงยกมานั้นเป็นแต่เพียงเรื่องแต่งเทียบกับความจริง เพื่อให้เห็นว่าคนไทยสมัยใหม่กลับไปนิยมยินดีกับภาษาไทยที่เขียนในหนังสือพิมพ์รายวันเสียแล้ว เปรียบเหมือนคนที่เป็นไข้อยู่ แล้วพยาบาลช่วยบีบคอซ้ำอีกก็คงต้องตาย ในสมัยนี้หากพูดภาษาไทยแท้คงไม่มีใครเข้าใจ เพราะภาษาสยามใหม่เป็นที่นิยมกันมากขึ้น ทรงยกคำศัพท์ใหม่พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทยโบราณ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ ใช้พระนามแฝงว่าสุครีพ ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชวนหวว ซึ่งเป็นหนังสือรายสัปดาห์จำหน่ายในหมู่มหาดเล็กข้าหลวงเดิมใน พ.ศ. 2451 ฉบับที่ 22 วันที่ 13 กันยายน ร.ศ. 127 เล่ม 1 มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวบรวมต้นฉบับฉบับสมบูรณ์พิมพ์เผยแพร่อีกครั้งใน พ.ศ. 2505