TLD-001-145
พระมาลัยคำหลวง
พ.ศ. 2280
คำหลวง
ร่ายยาว , โคลงสี่สุภาพ
กล่าวถึงพระมาลัยอรหันตเถระองค์สุดท้ายในโรหนชนบทลังกาทวีป มีอิทธิฤทธิ์มาก ได้ลงไปโปรดสัตว์ในเมืองนรก บรรดาสัตว์นรกขอให้พระมาลัยบอกญาติพี่น้องให้ทำทานแผ่ส่วนบุญกุศลส่งไปให้ พระมาลัยจึงได้นำข่าวมาบอกและเทศน์สั่งสอนให้มนุษย์ทำบุญทำทานและกระทำแต่กรรมดีเพื่อให้หลีกพ้นจากการตกนรก วันหนึ่งพระมาลัยนำดอกบัวที่ชายยากจนเข็ญใจคนหนึ่งถวาย ไปบูชาพระธาตุเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้พบและสนทนากับพระอินทร์จึงทราบว่าเทวดาแต่ละองค์กระทำกรรมและรับผลของกรรมไม่เท่ากัน ครั้นพระศรีอาริยเมตไตรยเสด็จมานมัสการพระธาตุเจดีย์จุฬามณี พระองค์ได้บอกพระมาลัยว่า จะลงมาประกาศพระศาสนาเมื่อศาสนาของพระสมณโคดมสิ้นสุดลงแล้ว ถ้าผู้ใดต้องการจะเกิดในศาสนาของพระองค์ก็ให้ปฏิบัติตามคำสั่งสอน เช่น ฟังเทศน์มหาชาติให้จบภายใน 1 วัน พระมาลัยจึงได้กลับมาเล่าเรื่องราวที่ได้เห็นได้ฟังแก่ชาวชมพูทวีป ส่วนชายเข็ญใจที่ถวายดอกบัวพระมาลัย เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ได้ไปเกิดเป็นเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นามอุบลเทพบุตร ด้วยอำนาจผลบุญที่ได้สร้างสมไว้นั้น
ศิลปากร, กรม. วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 3. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2545.
พระมาลัย , เถระ , เห็นนรก , เห็นสวรรค์ , โปรดสัตว์ , ประกาศศาสนา
พระมาลัยคำหลวงเป็นวรรณคดีพุทธศาสนาในสมัยอยุธยา เชื่อกันว่าเป็นพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แต่นักวรรณคดีบางท่าน เช่น ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เชื่อว่ามิใช่ผลงานของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร แต่เป็นผลงานที่แต่งในเวลาใกล้เคียงกับนันโทปนันทสูตรคำหลวงของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเท่านั้น อีกทั้งวรรณคดีเรื่องนี้ยังไม่น่าจะนับเป็นคำหลวงดังที่เรียกกันด้วย เค้าเรื่องพระมาลัยน่าจะมาจากคัมภีร์มาเลยยเทวัตเถรวัตถุของภิกษุชาวล้านนาในประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 21 และคัมภีร์มาเลยยเทวัตเถรวัตถุทีปนีฎีกา แต่งโดยพระพุทธวิลาสในช่วงกลางหรือปลายพุทธศตวรรษที่ 22
Copyright © 2015 ฐานข้อมูลนามานุกรมวรรณคดีไทย : Thai Literature Directory