รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
บทเห่กล่อมพระบรรทมและเรื่องจับระบำ
ชื่อเรื่องอื่น
ยุคสมัย
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
เนื้อเรื่องย่อ
บทเห่กล่อมพระบรรทมคือบทเห่กล่อมสำหรับเจ้านายที่ทรงพระเยาว์ ใช้เวลาไกวพระอู่ให้บรรทม สุนทรภู่นำเนื้อความจากเรื่องในวรรณคดีบ้าง เรื่องตำนานบ้างมาแต่งเป็นเนื้อร้องสำหรับเห่เป็นทำนองขับกล่อม แต่งเป็นคำประพันธ์คล้ายกาพย์ยานี 11 แต่จำนวนคำไม่สม่ำเสมอ เมื่อใช้สำหรับขับร้องย่อมมีการเอื้อนการขับทำนองเพลงทำให้จังหวะของบทประพันธ์กลมกลืนกันอย่างลงตัว และแม้จะอ่านตามปกติจำนวนคำเหล่านี้ก็ยังอ่านได้ราบรื่นโดยไม่เสียจังหวะหรือเสียความเลย บทเห่กล่อมพระบรรทมของสุนทรภู่มีอยู่ 4 เรื่อง ดังนี้
1. เห่เรื่องกากี ตอนพญาครุฑลักพานางกากีอุ้มไปวิมานฉิมพลี ระหว่างทางบินผ่านภูเขาสัตภัณฑ์ ทะเลสีทันดร และป่าหิมพานต์ พญาครุฑจึงชี้ชวนให้นางชม
2. เห่เรื่องพระอภัยมณี บทเห่แบ่งเป็น 9 ตอน ดังนี้
-
ตอนที่ 1 ศรีสุวรรณคร่ำครวญถึงนางเกษราด้วยความรักที่ยังไม่สมหวัง เพ้อฝันไปว่าจะลักพานางลงเรือไปเที่ยวชมทะเลให้สำราญใจ
-
ตอนที่ 2 นางสุวรรณมาลีบวชเป็นดาบสินี พร้อมทั้งสินสมุทรและอรุณรัศมีซึ่งร่วมบวชด้วย ทั้งสามองค์นั่งอยู่หน้ากุฏิชมธรรมชาติอันมีสัตว์ต่าง ๆ และดอกไม้นานาพรรณรอบบริเวณกุฏิ
-
ตอนที่ 3 และตอนที่ 4 ต่อเนื่องกัน สินสมุทรและอรุณรัศมีซึ่งบวชอยู่กับนางสุวรรณมาลี พูดเล่นเจรจากันตามประสาเด็กจนกระทั่งหลับไป จากนั้นกล่าวถึงนางอรุณรัศมีนักบวชน้อยที่ช่างซักถาม ให้ภาพเด็กที่ทำตามผู้ใหญ่โดยที่เด็กเองก็ไม่เข้าใจการกระทำนั้น
-
ตอนที่ 5 นางละเวงหลงป่าทรงม้าตามลำพัง บรรยายภูมิประเทศในสายตาของผู้ที่ละล้าละลังด้วยความไม่รู้จักทิศทาง
-
ตอนที่ 6, 7, 8, และ 9 มีเนื้อความต่อเนื่องกัน เริ่มตั้งแต่พระอภัยมณีพยายามที่จะเข้าไปหานางละเวงซึ่งอยู่ในรถทรง แต่นางแสร้งทำเป็นป่วยและนอนหลับ พระอภัยมณีจึงได้แต่รำพึงรำพันคร่ำครวญถึงนางอยู่ข้าง ๆ รถทรงนั้น นางละเวงได้ยินทุกถ้อยคำจึงนึกเห็นใจพระอภัยมณี
3. เห่เรื่องโคบุตร พระโคบุตรหลงรักนางอำพันมาลา จึงเขียนเพลงยาวใส่ใบตองให้นกขุนทองนำไปให้นาง
4. เห่เรื่องจับระบำ สุนทรภู่นำเนื้อความจากตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้าและความเชื่อเรื่องการเกิดฟ้าแลบฟ้าร้องในฤดูฝนมาแต่ง แบ่งเป็น 3 ตอน ดังนี้
-
ตอนที่ 1 กล่าวถึงฤดูฝน เหล่าเทวดานางฟ้าพากันเหาะมาร่ายรำด้วยลีลาอันงดงามเข้ากับดนตรี ต่างหยอกล้อกันด้วยอารมณ์สนุกสนาน
-
ตอนที่ 2 กล่าวถึงนางเมขลาผู้เป็นเทพธิดารักษาสมุทร ถือแก้วมณีเหาะมาร่ายรำร่วมกับเหล่าเทวดา นางฟ้าอย่างสนุกเพลิดเพลิน
-
ตอนที่ 3 กล่าวถึงรามสูรยักษ์เกเรผู้มีฤทธิ์เดช ปรากฏตัวขึ้นที่ใดเทวดานางฟ้าที่ชุมนุมกันอยู่ก็จะพากันตกใจกลัวเตลิดหนีกระจัดกระจายไป
วัตถุประสงค์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร, กรม. รวมนิทานบทเห่กล่อมและสุภาษิตของสุนทรภู่. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2529. (จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อร่วมโครงการฉลอง 200 ปี กวีเอกสุนทรภู่ พ.ศ.2529)
คำสำคัญ