โคลงสี่สุภาพ , อินทรวิเชียรฉันท์ , กาพย์ยานี , กลอนแปดสุภาพ
โคลงกวีโบราณเป็นหนังสือรวมบทประพันธ์ที่กวีสมัยโบราณเป็นผู้แต่งไว้ พระยาตรัง ซึ่งเป็นผู้รวบรวม ระบุไว้ว่า “ข้าพระพุทธเจ้า พญาตรังจ่าโคลงบุราณไว้” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า พระยาตรังรวบรวมถวายสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เมื่อเข้ามารับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ คำประพันธ์ทั้งหมดจำแนกได้เป็นสี่กลุ่ม คือ
1. โคลงเบ็ดเตล็ดของกวีโบราณ เป็นโคลงสี่สุภาพ ระบุชื่อผู้แต่งไว้หลายคน เช่น พระเยาวราช พระเทวี พระเจ้าเชียงใหม่ สนมข้างใน ศรีธนญชัย ศรีปราชญ์ และมีบางส่วนที่ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง
2. โคลงกลบทและโคลงกระทู้ เช่น โคลงกลบททวาตรึงประดับ กรนารายณ์ นารายณ์กางกร โคลงกระทู้ยี่สิบ โคลงกระทู้เสือซ่อนเล็บ มีทั้งผลงานของพระยาตรังเอง และกวีคนอื่น ๆ
3. โคลงนิราศของกวีสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้แก่ โคลงนิราศของเจ้าฟ้าอภัย 25 บท และโคลงนิราศของพระมหานาคท่าทราย 25 บท เนื้อหาพรรณนาถึงการเดินทางและครวญถึงนางที่รัก แต่มีเฉพาะตอนกลางเรื่อง ไม่จบความ สันนิษฐานว่าต้นฉบับเดิมคงขาดหายไป
4. บทประพันธ์ชนิดอื่น ได้แก่ วสันตดิลกฉันท์ 9 บท เนื้อหาเป็นการชมพรรณไม้ในอุทยาน และกาพย์เห่เรือ แต่งเป็นกาพย์ห่อโคลงพรรณนากระบวนเรือต่าง ๆ มีเนื้อความไม่ยาวนัก