วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือการยุทธ์ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีสาเหตุที่นำมาก่อนนับเป็นสิบๆ ปี นั่นคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสยามประเทศกับมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเข้ามาแผ่อิทธิพลครอบครองดินแดนและแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออก
ไทยกับฝรั่งเศสเริ่มมีข้อขัดแย้งกันโดยตรงประมาณ พ.ศ. 2433 เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในการครอบครองหัวเมืองลาว และพยายามปกป้องดินแดนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องหลายปี ด้วยเหตุนี้จึงมีการปะทะกันทางกำลังทหารอยู่หลายครั้ง ทำให้ปัญหาลุกลามมาถึงพระนครในกาลต่อมา อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยึดมั่นในพระราชวิเทโศบาย ที่เน้นการเจรจาทางการทูตมาโดยตลอด โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการเป็นผู้ดำเนินการอย่างจริงจัง
เหตุการณ์ขัดแย้งตึงเครียดขึ้นเมื่อฝรั่งเศสเริ่มนโยบายใช้กำลังทหารในราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2436 ฝรั่งเศสส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศสริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยอ้างว่าต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ของตนในประเทศไทย และจะออกไปภายใน 7 วัน แต่ก็มิได้ทำตามสัญญา มิหนำซ้ำยังนำเรือเข้ามาส่งกำลังบำรุงอีก 1 ลำ
วันที่ 13 กรกฎาคม 2436 การเผชิญหน้ารุนแรงขึ้นเมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบแองกองสตองต์ (Inconstant) และเรือปืนโกแมต (Comete) ข้ามสันดอนปากแม่น้ำเข้ามา การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย ฝ่ายไทยได้ยิงปืนใหญ่กระสุนดินจากป้อมปราการทั้ง 2 แห่ง ข้างต้นเป็นการเตือนก่อน เมื่อเห็นฝรั่งเศสยังคงเดินเรือต่อจึงยิงกระสุนจริง และทำให้ต่างฝ่ายต่างยิงโต้ตอบกัน การปะทะกันครั้งนี้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นและทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตและยุทโธปกรณ์ไม่มากนัก อย่างไรก็ตามเรือฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำก็แล่นเข้ามาจอดหน้าสถานทูตฝรั่งเศส พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องหลายประการ เช่น ให้ไทยถอนกำลังจากหัวเมืองฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ไทยที่ยิงเรือฝรั่งเศสและให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว ไทยต้องสูญเสียดินแดนและประชาชนในดินแดนเหล่านั้นรวมทั้งเงินค่าเสียหายเป็นอันมากให้แก่ชาวต่างชาติ โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมเสียประโยชน์ส่วนน้อยเพื่อรักษาอธิปไตยของชาติให้ดำรงคงอยู่ ทรงใช้เวลาดำเนินพระบรมราชวิเทโศบายอีกกว่า 10 ปีจึงสามารถยุติปัญหาขัดแย้งและทำให้ฝรั่งเศสยอมถอนกำลังออกไปจากดินแดนไทยจนหมดสิ้น
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. “ขัตติยพันธกรณี.” ใน วรรณลักษณ์วิจารณ์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2540.
ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช พระราชาผู้ยิ่งใหญ่อันเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยรายวัน, ม.ป.ป.
พีรพล สงนุ้ย. กรณีพิพาท ไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112 ตามหลักฐานฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.