กากีคำกลอนเป็นวรรณคดีนิทานที่เจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่งในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนำเรื่องมาจากนิบาตชาดก ขุททกนิกาย พระสุตตันปิฎกในพระไตรปิฎก ซึ่งมีชาดกเรื่องกากีปรากฏอยู่ 3 เรื่องด้วยกันคือ กากาติชาดก สุสันธีชาดก และกุณาลชาดก
เรื่องกากีคำกลอนเริ่มด้วยการกล่าวถึงอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ที่เป็นพญาครุฑแล้วจึงเล่าชาดกเรื่องนี้ว่า ท้าวพรหมทัตแห่งกรุงพาราณสีมีพระมเหสีชื่อกากี นางมีรูปงาม มีกลิ่นกายหอมฟุ้งดั่งดอกไม้ทิพย์ ชายใดได้สัมผัสกลิ่นกายนางก็จะติดกายชายนั้นนานไปถึงเจ็ดวัน ท้าวพรหมทัตจึงสิเน่หานางยิ่งนัก
ท้าวพรหมทัตโปรดเล่นสกาเป็นที่สุด บางครั้งเล่นจนลืมวันลืมคืน ครั้งหนึ่งนางกากีไม่เห็นเสด็จมาหาดังเคยก็สงสัย นางกากีจึงมาแอบดูและได้สบเนตรกับมาณพหนุ่มที่กำลังทรงสกากับท้าวพรหมทัต เกิดความปฏิพัทธ์ซึ่งกันและกัน ส่วนมาณพหนุ่มคือพญาครุฑแปลงกา เมื่อถึงเวลาพลบค่ำก็ลาท้าวพรหมทัตแล้วคืนรูปเป็นพญาครุฑดังเดิม บันดาลให้เกิดพายุใหญ่แล้วบินมาอุ้มนางกากีไปเสพสุขอยู่ ณ วิมานฉิมพลี
ส่วนทางเมืองพาราณสี หลังจากเกิดมหาพายุแล้วนางกากีหายไป ท้าวพรหมทัตโทมนัสพระทัยยิ่งนัก ทรงคร่ำครวญถึงนางจนสลบ เมื่อฟื้นคืนสติคนธรรพ์พี่เลี้ยงทูลเล่าว่าได้เห็นนางกากีกับมาณพหนุ่มสบเนตรกัน ต่อมาเกิดความโกลาหลบนฟ้าแล้วนางก็หายไป ชะรอยว่าพญาครุฑจะแปลงกายมาลักพานางไป จึงขออาสาไปสืบหาความจริง
เจ็ดวันต่อมาพญาครุฑแปลงกายเป็นมาณพหนุ่มมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัตตามปกติเพื่อกลบเกลื่อนพิรุธ เมื่อพญาครุฑกลับ คนธรรพ์ก็แปลงเป็นไรแทรกขนพญาครุฑไปยังวิมานฉิมพลี ครั้นรุ่งเช้าพญาครุฑออกไปเที่ยวป่าหิมพานต์ ไรก็คืนร่างเป็นคนธรรพ์ดังเดิม นางกากีเห็นคนธรรพ์ก็ถามถึงท้าวพรหมทัต คนธรรพ์แสร้งโกหกว่าพระองค์มิได้ทรงอาลัยอาวรณ์นางแต่อย่างใด แต่ตนต่างหากคือผู้ที่เป็นทุกข์จึงมาตามหานางด้วยความรัก ครั้นคนธรรพ์เล้าโลมนางก็ยินยอมพร้อมใจ ถึงเวลาเย็นพญาครุฑกลับมา คนธรรพ์ก็หลบซ่อนตัว เป็นเช่นนี้จนครบ 7 วัน เมื่อพญาครุฑถึงกำหนดลงเล่นสกากับท้าวพรหมทัต คนธรรพ์ก็แปลงกายเป็นไรแทรกขนพญาครุฑกลับไปด้วย
ท้าวพรหมทัตทรงเล่นสกากับพญาครุฑร่างแปลงอย่างเป็นปกติ ครั้นเมื่อพญาครุฑกลับไปจึงได้สืบสาวความจริง คนธรรพ์เล่าโดยเบี่ยงเบนความจริงว่า ตนได้พบนางกากี แต่นางไม่ยินดียินร้าย และเกรงว่านางจะบอกพญาครุฑ จึงต้องปิดปากนางโดยอยู่ร่วมกับนาง ท้าวพรหมทัตเสียพระทัยยิ่งนัก แต่ก็ไม่ปรารถนาจะจองเวร ขอแต่ให้คนธรรพ์ช่วยให้ได้นางกากีกลับคืนมา เมื่อครบกำหนดอีก 7 วันต่อมา พญาครุฑมาเล่นสกาตามเคย คนธรรพ์ได้บรรเลงพิณขับร้องเพลงที่มีเนื้อหาเสียดเย้ยเกี่ยวกับกลิ่นกายของกากี พญาครุฑจึงรู้ความจริง รู้สึกทั้งสลดใจและเสียหน้าเสียเชิงชาย รีบลากลับมาเค้นถามแต่นางไม่ยอมรับ พญาครุฑจึงอุ้มนางมาวางไว้ที่หน้าพระลานเมืองพาราณสี และกล่าวตัดขาดจากนางอย่างสิ้นเยื่อใย
ฝ่ายท้าวพรหมทัตเมื่อเห็นนางกากีก็ตรัสเสียดสีเย้ยหยันนางอย่างสาแก่ใจ ส่วนนางกากีทูลความเท็จจนท้าวพรหมทัตกริ้ว จึงให้ลอยแพนางกากีไปเสีย เพราะสตรีเยี่ยงนางถ้าเลี้ยงไว้ก็หนักแผ่นดิน
นอกจากเนื้อหาที่โลดโผนสนุกสนาน และฉากที่ตื่นตาตื่นใจแเล้ว กากีคำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ยังนำเสนอแก่นเรื่องหรือแนวคิดสำคัญคือ “มารยาของสตรีชั่วร้าย” ได้อย่างชัดเจนยิ่ง ผ่านบทบาทและพฤติกรรมของนางกากีซึ่งเป็นตัวละครที่มีสีสัน มีชีวิตชีวาที่สุด
อย่างไรก็ตาม เรื่องกากีมิใช่จะแสดงมารยาของหญิงชั่วร้ายเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องด้านจริยธรรมของบรรดาบุรุษไว้ด้วย โดยเฉพาะพญาครุฑซึ่งต้องได้รับบทเรียนที่เจ็บปวดแสนสาหัสกับการประพฤติผิดศีล คือการเป็นชู้กับภรรยาของชายอื่นจนถึงขั้นลักพาตัวไปไว้ครอบครอง จึงถูกกรรมสนองกรรม คือ คนธรรพ์วางแผนซ้อนกลอย่างที่เรียกว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” จนถึงกับครวญออกมาด้วยความสลดใจในพฤติกรรมของตนเองว่า
ครั้งนี้เสียรักก็ได้รู้ ถึงเสียชู้ก็ได้เชาวน์ที่เฉาฉงน
เป็นชายหมิ่นชายต้องอายคน จำจนจำพรากอาลัยลาน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้กากีคำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ประทับใจผู้อ่านผู้ฟังนั้นคือความเป็นเลิศทางกวีโวหาร มีผู้นำบทกลอนจากเรื่องนี้ไปขับร้องกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะบทที่คนธรรพ์ขับร้องเสียดเย้ยพญาครุฑเป็นนัย ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนกับนางกากี ว่า
รื่นรื่นชื่นจิตพี่จำได้ เหมือนเมื่อไปร่วมภิรมย์ประสมศรี
ในสถานพิมานสิมพลี กลิ่นยังซาบทรวงพี่ทั้งวรกาย
นิจจาเอ๋ยจากเชยมาเจ็ดวัน กลิ่นสุคันธรสรื่นก็เหือดหาย
ฤาว่าใครแนบน้องประคองกาย กลิ่นสายสวาทซาบอุรามา
ด้วยคุณค่าทางด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์ที่โดดเด่นดังกล่าวมาโดยสังเขปย่อมยืนยันได้ว่าเหตุใดเรื่องกากีคำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบทนิพนธ์ร้อยกรองชิ้นเอกเรื่องหนึ่ง