กากีคำฉันท์มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงโทษแห่งสตรีหลายใจและให้บุรุษรู้จริตแห่งสตรีชั่วจะได้ไม่หลงกล กากีคำฉันท์มีที่มาจากกุณาลชาดก และมีเนื้อเรื่องบางส่วนคล้ายกับกากาติชาดกและสุสันธีชาดก นอกจากนี้รายละเอียดต่าง ๆ ในเรื่องยังคล้ายกับวรรณคดีเรื่องกากีสำนวนอื่น เช่น บทเห่เรื่องกากีฉบับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร กากีคำกลอนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
ผู้แต่งเริ่มเรื่องกากีด้วยบทประณามพจน์แล้วเล่าเท้าความเมื่อครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกดุเหว่าชื่อพญากุณาล ได้แสดงธรรมแก่พญาบุณณมุขให้เห็นโทษของสตรีที่มักมากในกามคุณ ทรยศต่อสวามี หากผู้ใดหลงรูปสตรีย่อมจะเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร แล้วพญากุณาลจึงเล่าเรื่องกากีให้ฟังเป็นตัวอย่าง เนื้อเรื่องมีว่า
ท้าวพรหมทัตครองกรุงพาราณสี มเหสีนามว่ากากีซึ่งมีสิริโฉมงดงามและมีกลิ่นกายหอม ท้าวพรหมทัตโปรดการเล่นสกามาก เสด็จออกเล่นสกากับหมู่ข้าราชบริพารอยู่เสมอ แม้กระทั่งเทวดา ยักษ์ ครุฑ และวิทยาธรก็มักมาร่วมเล่นสกากับพระองค์อยู่เนือง ๆ
ฝ่ายพญาครุฑซึ่งสถิตอยู่ที่วิมานฉิมพลี ได้แปลงกายเป็นชายหนุ่มมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัต นางกากีได้ทราบว่ามีมาณพหนุ่มรูปงามมาเล่นสกากับพระสวามี ก็ใคร่ยลโฉมจึงแอบมาดูและมีใจปฏิพัทธ์ ฝ่ายพญาครุฑสบตานางกากีแล้วก็หลงรักและปรารถนาจะพานางไปยังวิมานฉิมพลี หลังจากที่พญาครุฑกลับวิมานแล้ว ก็ยังคงครุ่นคิดถึงนางตลอดเวลา แม้จะกลัวบาปในการเป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น แต่เมื่อพญาครุฑกลับมาเล่นสกากับท้าวพรหมทัตอีกครั้ง ก็ได้ลักตัวนางกากีกลับไปที่วิมานฉิมพลี ฝ่ายนางกากีก็ยินดีด้วยกับพญาครุฑ
ฝ่ายท้าวพรหมทัตรู้ว่านางกากีหายไปก็เสียพระทัย นาฏกุเวรคนธรรพ์ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของท้าวพรหมทัตตั้งข้อสงสัยว่ามาณพหนุ่มเป็นพญาครุฑแปลงเป็นผู้ลักนางไป จึงอาสาออกตามหานาง นาฏกุเวรรอจนเมื่อพญาครุฑกลับมาเล่นสกาอีกครั้ง แล้วแปลงกายแทรกขนของพญาครุฑไปยังวิมานฉิมพลี เทพยดาต่างสรรเสริญการกระทำของนาฏกุเวรที่อาสาด้วยความภักดี นาฏกุเวรซ่อนตัวในวิมานของพญาครุฑรอโอกาสที่พญาครุฑออกไปเที่ยวเล่นหิมพานต์ จึงออกมาแสดงตนและไต่ถามนางกากีเพื่อลองใจนาง เมื่อทราบว่านางไม่ซื่อสัตย์ต่อท้าวพรหมทัต นาฏกุเวรจึงโลมนางเพื่อให้นางปกปิดเรื่องที่ตนติดตามมาถึงวิมานฉิมพลี
นางกากีได้อยู่กับพญาครุฑในเวลากลางวันและอยู่กับนาฏกุเวรในเวลากลางคืนจนครบกำหนดที่นาฏกุเวรสัญญาว่าจะมาทูลข่าวนางกากีให้ท้าวพรหมทัตทรงทราบ นาฏกุเวรเกิดความลังเลระหว่างการทำตามสัญญาเพื่อรักษาเกียรติกับการครองรักกับนางกากีต่อไป แต่ในที่สุดนาฏกุเวรก็ตัดสินใจกลับเมืองพาราณสี และได้เข้าเฝ้าท้าวพรหมทัตเพื่อทูลความจริง ท้าวพรหมทัตทรงปรารถนาไต่สวนนางกากีด้วยพระองค์เอง นาฏกุเวรจึงออกอุบายดีดพิณและขับร้องเรื่องราวเกี่ยวกับการติดตามหานางและแสดงนัยแห่งความสัมพันธ์กับนางกากีจนทำให้พญาครุฑทราบเรื่องราวทั้งหมด พญาครุฑเสียใจว่าตนเป็นผู้พาชู้ไปหานางกากีผู้เป็นชายา พญาครุฑกลับไปไต่ถามและบริภาษนาง แล้วนำนางมาคืนท้าวพรหมทัต ท้าวพรหมทัตทรงสอบถามนาง นางก็กล่าวแก้ตัวต่าง ๆ จนท้าวพรหมทัตทรงแน่พระทัยว่านางเป็นสตรีใจคด และในตอนนี้ผู้แต่งเรื่องกากีคำฉันท์ ได้แทรกคำสอนของพญากุณาลเกี่ยวกับลักษณะของสตรีชั่วเพื่อให้ประจักษ์มารยาของสตรี ในตอนท้ายเรื่องท้าวพรหมทัตทรงลงโทษนางกากี โดยขับนางออกจากเมืองพาราณสี นางกากีซัดเซพเนจรไปจนถึงริมฝั่งน้ำและคิดหาวิธีข้ามน้ำ เนื้อความในเรื่องกากีคำฉันท์จบเพียงเท่านี้