วาหนิติ์นิกรขึ้นต้นด้วยโคลงสี่สุภาพ 3 บทเป็นส่วนนำเรื่อง ตามด้วยคำอธิบายเรื่องอักษรนำ และอธิบายต่อว่าอักษรสูงนั้นนำได้เฉพาะอักษรต่ำเดี่ยวเท่านั้น การแจกลูกอักษรนำไปโดยละเอียด ทุกมาตรา เช่น
ขง ขงา ขงิ ขงี ขงึ .....
ขงง ขงัง ขงาง ขงิง ขงึง .....
ขงก ขงัก ขงาก ขงิก ขงึก .....
ขงด ขงัด ขงาด ขงิด ขงึด .....
ขงบ ขงับ ขงาบ ขงิบ ขงึบ .....
ขงม ขงัม ขงาม ขงิม ขงึม .....
การแจกลูกให้อ่านอย่างละเอียดนี้จะให้อ่านด้วยอักษรสูงทั้ง 10 ตัว (ยกเว้น ห) นำอักษรต่ำเดี่ยวทุกตัวทุกมาตรา ในปัจจุบันนี้อาจจะเห็นว่าเป็นการเสียเวลาเพราะมีคำที่ไม่มีที่ใช้ในภาษาอยู่มาก แต่จะช่วยให้ผู้เรียนอ่านได้คล่องซึ่งจะนำไปสู่การเขียนคล่องได้ เด็ก ๆ จะอ่านพร้อม ๆ กันจนกระทั่งจำได้แม่นยำ และได้บทสรุปในตอนท้ายว่ามีคำใดบ้างที่ใช้ในภาษา จบเรื่องอักษรสูงนำอักษรต่ำแล้ว ได้กล่าวถึง “อักษรกลางนำอักษรต่ำ สำเนียงแปลกกับอักษรประโยค” ดังนี้
คำอธิบายที่ว่า “สำเนียงแปลกกับอักษรประโยค” เนื่องจากอักษรประโยคเป็นเรื่องของอักษรควบกล้ำ โดยรูปแบบของคำถ้าไม่ระวังหรือไม่รู้อาจอ่านผิดได้ เช่นคำว่า “กรุบกริบ” ถ้าอ่านแบบอักษรนำจะเป็น “กะหรุบกะหริบ” แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเรื่องอักษรนำก็อาจอ่านแบบควบกล้ำ
การแจกลูกเหล่านี้ทำไว้ให้ฝึกอ่านจนครบเพื่อฝึกให้อ่านคล่อง