รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ยุคสมัย
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
ฉันทลักษณ์
กาพย์สุรางคนางค์ , กาพย์ฉบัง
เนื้อเรื่องย่อ
เนื้อเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์มีว่า
พระสมุทรโฆษเป็นโอรสของพระเจ้าพินทุทัตและนางเทพยธิดาผู้ครองกรุงพรหมบุรี มีชายาชื่อนางสุรสุดา วันหนึ่งทรงได้ข่าวจากนายพรานว่าพบโขลงช้างป่า จึงไปคล้องช้างในป่า เวลาเย็นเสด็จไปพักใต้ร่มโพธิ์ริมสระ พระโพธิ์เทพารักษ์อุ้มพระสมุทรโฆษไปสมนางพินทุมดีราชธิดาท้าวสีหนรคุปต์และนางกนกพดีที่เมืองรมยนครชั่วคืนหนึ่ง ครั้นเช้าก็อุ้มกลับมาส่งในป่า พระสมุทรโฆษตื่นบรรทมมีความอาลัยนาง เสด็จออกตามหาแต่ไม่พบจึงตัดใจเสด็จกลับเมือง ก่อนเข้าเมืองจึงได้พบพราหมณ์สี่นายจากเมืองรมยนครมาประกาศข่าวสยุมพรนางพินทุมดี
ฝ่ายนางพินทุมดีตื่นบรรทมไม่พบพระสมุทรโฆษ ก็ทรงโศกาดูรขอร้องให้นางธารีพาพระสมุทรโฆษมาหานาง ครั้นนางธารีไปทูลความ พระสมุทรโฆษก็ทรงสั่งให้จัดกองทัพยกตามไปรมยนครกองทัพนั้นไปถึงเมืองพร้อมกับทัพกษัตริย์อื่นๆ ที่มาร่วมงานสยุมพรนางพินทุมดี เมื่อถึงวันสยุมพร พระสมุทรโฆษทรงยกศรสำเร็จเพียงพระองค์เดียวได้นางเป็นคู่ แต่กษัตริย์อื่นแค้นใจจึงเกิดศึกชิงนางขึ้น ในที่สุดพระสมุทรโฆษชนะศึก ท้าวสีหนรคุปต์จึงจัดการอภิเษกให้ ต่อมาหนึ่งปี พิทยาธรชื่อรณาภิมุข อุ้มเมียเหาะมาพบรณบุตรพิทยาธรอีกตนหนึ่ง รณบุตรเห็นเมียรณาภิมุขเข้าก็ชอบใจ เข้าทำร้ายรณาภิมุขแล้วชิงนางไป รณาภิมุขหล่นลงมาในราชอุทยานนอนคร่ำครวญอยู่
เรื่องที่แต่งสมัยอยุธยามีเนื้อเรื่องเพียงเท่านี้
ต่อไปเป็นพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เริ่มด้วยพระสมุทรโฆษเสด็จมาพบรณาภิมุขจึงมอบพระขรรค์วิเศษที่ช่วยให้เหาะเหินได้แก่พระสมุทรโฆษ ก่อนที่จะทูลลากลับป่าหิมพานต์ พระสมุทรโฆษจึงชวนนางพินทุมดีเสด็จประพาสป่าหิมพานต์ วันหนึ่งพิทยาธรตนหนึ่งลอบลักพระขรรค์และเหาะหนีไป เมื่อตื่นบรรทมทั้งสองพระองค์ก็ทรงโทมนัส เกาะขอนไม้แต่ขอนไม้ขาด ทั้งสองพระองค์จึงพลัดพรากจากกันไป นางพินทุมดีขึ้นฝั่งได้ก่อน ไปอาศัยอยู่กับหญิงชราผู้หนึ่งในเมืองมัทราษฐ นางมอบแหวนเพชรให้หญิงนั้นไปขายได้ทองห้าเล่มเกวียนมาสร้างศาลาแจกทานให้เป็นที่พึ่งของสมณพราหมณ์ที่เดินทางผ่าน จ้างช่างวาดเขียนภาพเป็นเรื่องของนางกับพระสมุทรโฆษตั้งแต่ต้นจนถึงตอนที่พลัดพรากจากกันประดับไว้ที่ศาลานั้นด้วย และจ้างคนให้คอยสังเกตอาการของผู้ที่มาชมภาพเหล่านั้นแล้วมารายงานนางเป็นประจำ ฝ่ายพระสมุทรโฆษ ทรงลอยคออยู่กลางน้ำถึง 7 วัน นางมณีเมขลามาพบและช่วยเหลือให้ขึ้นฝั่งได้ แล้วนางจึงไปรายงานแก่พระอินทร์ พระอินทร์ทรงทราบก็กริ้วบัญชาให้พิทยาธรนำพระขรรค์ไปคืน พระสมุทรโฆษจึงได้อาศัยฤทธิ์พระขรรค์นั้นเหาะไปตามหานางพินทุมดี จนถึงเมืองมัทราชฐ ทรงแปลงกายเป็นพราหมณ์ไปพัก ณ ศาลาที่นางสร้างไว้ และได้เห็นภาพ ทำให้สะเทือนพระทัยจนทรงพระกรรแสงแล้วทรงพระสรวล ผู้เฝ้านำความไปรายงานนางพินทุมดี นางจึงรีบเสด็จมาหาพระสมุทรโฆษ ทั้งสองพระองค์ทรงยินดีที่ได้พบกัน ต่อมาก็ทรงชวนกันเหาะกลับไปถึงเมืองรมยนครในเวลาเช้า ท้าวสีหนรคุปต์และนางกนกพดีเสด็จออกมารับ จากนั้นทั้งท้าวพินทุทัตและท้าวสีหนรคุปต์ทรงมอบราชสมบัติให้พระสมุทรโฆษครอบครอง แล้วทั้งสององค์ก็ออกบรรพชาเป็นฤาษีจนสิ้นชนมายุไปบังเกิดในพรหมโลก
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
ศิลปากร, กรม. วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม 2. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2530.
สุมาลี กียะกุล. สมุทรโฆษคำฉันท์ ภาคที่แต่งในสมัยอยุธยา : การวิเคราะห์และวิจารณ์เชิงประวัติ. วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.
คำสำคัญ
สมุทรโฆษ , พระเจ้าพินทุทัต , นางเทพยธิดา , กรุงพรหมบุรี , คลองช้าง , อุ้มสม , นางสุรสุดา , นางพิมทุมดี , ท้าวราชสีหนรคุปต์ , นางกนกพดี , เมืองรมยนคร , ยกศร , พิทยาธร , ลอยคออยู่กลางน้ำ , เจ็ดวันเจ็ดคืน , นางมณีเมขลา , แปลงกายเป็นชาย