บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ได้เค้าโครงเรื่องมาจากอุปรากรฝรั่งเศส “มาดามบัตเตอร์ฟลาย” ของปุชชินี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าไว้ในหนังสือไกลบ้าน
กวีทรงดัดแปลงและปรับเปลี่ยนเรื่องความรักเชิงโศกนาฏกรรมของนายทหารเรืออเมริกันกับสาวญี่ปุ่นมาเป็นหนุ่มกรุงเทพฯ กับสาวเชียงใหม่ โดยสร้างให้เนื้อเรื่อง ตัวละคร และบรรยากาศในเรื่องเป็นไทย บทละครเรื่องสาวเครือฟ้าแบ่งการแสดงออกเป็น 4 ชุด แต่ละชุดมีคำอธิบายบทเพื่อกำหนดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงไว้อย่างชัดเจน เช่น ฉาก ตัวละคร การแต่งกาย และการแสดงออกของตัวละคร เป็นต้น เมื่อจบการแสดงแต่ละชุดจะกำหนดให้ “ปิดม่าน” ดังมีเนื้อเรื่องย่อดังนี้
ชุดที่ 1 (สวาสดิ์) สาวชาวเชียงใหม่ชื่อว่า “เครือฟ้า” เป็นลูกกำพร้าอยู่กับคนเก่าแก่ที่นับถือเหมือนตายายชื่อพ่อเฒ่าสน แม่เฒ่าบุญตรู และบ่าวชื่อคำเจิด อาชีพทำสวนดอกไม้ วันหนึ่งได้พบรักกับนายทหารหนุ่มชื่อร้อยตรีพร้อม ประจำกองอาสาจากกรุงเทพฯ ทั้งสองรักใคร่ชอบพอกันจึงตกลงจะแต่งงานกัน
ชุดที่ 2 (วิวาห์) พิธีแต่งงานระหว่างเครือฟ้ากับร้อยตรีพร้อมซึ่งจัดขึ้นอย่างใหญ่โต ในขณะทำพิธีนั้นมีนักบวชชื่อ ตุ๊สีป้าย เข้ามาห้ามทำการมงคลในวันนั้นแต่ถูกร้อยตรีพร้อมไล่ออกไป
ชุดที่ 3 (ลา) หลังจากแต่งงานจนทั้งคู่มีลูกด้วยกัน วันหนึ่งร้อยตรีพร้อมได้รับคำสั่งให้กลับกรุงเทพฯ เพื่อรายงานราชการเรื่องเสบียงและกองทัพในเชียงใหม่ ร้อยตรีพร้อมจึงลาเครือฟ้าและสัญญาว่าจะรีบกลับ
ชุดที่ 4 ( กลับ ) หลังจากร้อยตรีพร้อมจากไปเครือฟ้าก็ได้แต่เฝ้าคอยแต่ก็ไม่ได้ข่าวใด ๆ วันหนึ่งเจ้าสายน้ำผึ้ง เชื้อสายเจ้าเมืองเชียงใหม่ มาเกี้ยวพาราสีแต่นางปฏิเสธไป พระรามพลพ่ายเข้ามาส่งข่าวว่าร้อยตรีพร้อมมาถึงลำพูนแล้วจะถึงเชียงใหม่ในไม่ช้า เครือฟ้าดีใจมากจึงได้แต่งตัว จัดเก็บบ้านเรือนให้เรียบร้อยคอยสามี ปรากฏว่าร้อยตรีพร้อมซึ่งได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ได้รับตำแหน่ง “หลวงณรงค์รักษ์ศักดิเจริญ” กลับมาพร้อมกับภรรยาใหม่ชื่อ “จำปา” เครือฟ้าถูกจำปาด่าทอเสียดสีและคิดจะมาพรากลูกชายไป ทำให้เครือฟ้าเสียใจมากจนตัดสินใจเชือดคอตาย
นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. บทละครเรื่องสาวเครือฟ้า. พระนคร : ไทยเขษม, 2514. (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเสงี่ยม ตุงคเศรณี)