บทละครเรื่องอาบูหะซันเป็นกลอนบทละครรำซึ่งขุนจบพลรักษ์ (ทิม สุขยางค์ ต่อมาเป็นหลวงพัฒนพงศ์ภักดี) แต่งขึ้นเพื่อใช้แสดงละครในโรงละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ไม่ปรากฏปีที่แต่งอย่างแน่ชัด แต่มีคำบอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงนำพระราชนิพนธ์เรื่องนิทราชาคริตไปคิดกระบวนเล่นเป็นละครรำ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้ให้ขุนจบพลรักษ์เป็นผู้แต่ง โดยดำเนินเรื่องเฉพาะตอนปลายตั้งแต่อาบูหะซันเลี้ยงกาหลิบเป็นครั้งที่ 2 ไปจนจบเรื่อง เป็นหนังสือประมาณ 2 เล่มสมุดไทย เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้จัดแสดงละครเรื่องนี้ที่โรงละครของท่าน ต่อมาละครโรงอื่นจึงนำไปจัดแสดงบ้าง เมื่อ พ.ศ. 2473 ในรัชกาลที่ 7 หอพระสมุดวชิรญาณได้นำต้นฉบับบทละครเรื่องนี้มาจัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในงานพระราชกุศลครบ 100 วันพระศพพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าจุฑารักษ์ราชกุมารี
บทละครเรื่องอาบูหะซันแต่งขึ้นเพื่อแสดงให้สามัญชนดู ถ้อยคำที่ใช้จึงเป็นคำพื้น ๆ ที่แสดงอารมณ์และอากัปกิริยาของตัวละครได้ชัดเจน ทั้งยังมีการแทรกบทขบขันเหมือนในบทละครนอกทั่วไปด้วย
บทละครเรื่องอาบูหะซัน. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2473. (เจ้าภาพพิมพ์ทูลเกล้าฯถวายเป็นของพระราชทานแจกในงานพระราชกุศลที่พระศพ พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุธารัตนราชกุมารี ครบ 100 วัน ณ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2473)