บทเจรจาละครเรื่องอิเหนาเริ่มเรื่องตอนที่จรกาทราบข่าวว่าท้าวกะหมังกุหนิงยกทัพมาประชิดเมืองดาหา จบลงตอนที่สังคามาระตาเตือนสติอิเหนาเมื่ออิเหนาคร่ำครวญหลังจากที่รู้ว่าบุษบาหายไป ส่วนที่เป็นพระนิพนธ์ของกรมหลวงพิชิตปรีชากรเริ่มตอนที่จรกาออกว่าราชการ ม้าใช้อ่านสารดาหาให้ไปช่วยการศึก จบด้วยฤาษีเสกน้ำมนตร์เมื่อมะเดหวีพาบุษบามากราบฤาษี โดยแบ่งเป็นตอนดังนี้
ตอนที่ 6 ชาวเมืองดาหามาดูอิเหนา
ตอนที่ 7 ยาสาออกไปสั่งให้จัดประเสบัน
ตอนที่ 8 สี่พี่เลี้ยงปลอบบุษบาจะให้ขึ้นไปเฝ้า
ตอนที่ 9 บาหยัน คุณเฒ่าแก่ กำนัล
ตอนที่ 10 เสนากับพนักงาน
พระนิพนธ์บทเจรจาสำนวนนี้รวมนิพนธ์อยู่ในประชุมพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โดยใช้ชื่อ “บทละครพูดเรื่องอิเหนา ตอนศึกท้าวกะหมังกุหนิงตีกรุงดาหา”
บทเจรจาละครเรื่องอิเหนาเน้นความสนุกสนานและความตลกขบขัน ดังนั้นตัวละครสำคัญเช่น อิเหนา บุษบาจึงมักไม่ปรากฏบทบาทมาก ดังเช่นอิเหนามีบทเจรจาเพียงตอนเดียว คือตอนครวญถึงจินตะหราเมื่อต้องยกทัพไปช่วยศึกดาหา ตัวละครที่มีบทบาทเป็นตัวละครที่แต่งเพิ่มเข้ามาเพื่อสร้างรสให้แก่บทเจรจา เช่น ทูต ม้าใช้ นางกำนัล ประชาชนที่มาเฝ้าดูอิเหนาเข้าเมืองดาหา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีตัวละครที่เป็นที่รู้จักกันดีเข้าร่วมด้วย เช่น สังคามาระตา สียะตรา ท้าวดาหา จรกา และท้าวล่าสำ ฯลฯ รสวรรณคดีที่โดดเด่นในบทเจรจาละครอิเหนาสำนวนนี้จึงเป็นหาสยรส คือรสแห่งความตลกขบขัน
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. “บทเจรจาลครอิเหนา.” ใน บทเจรจาลครอิเหนาและตำนานเรื่องลครอิเหนา. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2464. ( พระนางเจ้าสุขุมาลศรีพระราชเทวี โปรดให้พิมพ์ในงานฉลองพระชัณษาซายิด เมื่อปีระกา พ.ศ.2464)