เนื้อเรื่องเริ่มจากในสมัยพระปัจเจกพุทธเจ้า พระเจ้าปรันตปะกับพระอัครเทวีครองกรุงโกสัมพี พระอัครเทวีทรงพระครรภ์แก่ใกล้มีพระประสูติกาล พระเจ้าปรันตปะกับพระอัครเทวีเสด็จชมดอกไม้นกหัสดีลิงค์บินมาโฉบพระมเหสีไปไว้บนคาคบไม้ ต่อมาพระนางประสูติพระโอรสบนคาคบไม้นั้น ทรงตั้งชื่อว่าพระอุเทนกุมาร ฝ่ายพระเจ้าปรันตปะทรงโศกเศร้าเสียพระทัย โหรทูลว่าตามดวงพระชะตา พระอัครเทวีดวงถึงฆาต ส่วนพระองค์นั้นพระเคราะห์ร้าย แต่ด้วยบุญของพระโอรสจึงแค่พลัดพรากจากกัน ภายหลังจะเสด็จกลับมา พระเจ้าปรันตปะทรงครองแผ่นดินต่อมาและมิได้ทรงตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งพระอัครเทวีแทน
พระเจ้าอัลกัปและพระเจ้าเวฐทิปก ครองนครอยู่ใกล้กัน ทรงเบื่อหน่ายในราชสมบัติเสด็จออกผนวชปลูกกุฏิอยู่เคียงกัน แต่ยังมิทันได้บรรลุธรรมชั้นสูงฤษีเวฐทิปกก็ป่วยตาย ด้วยกุศลที่ได้บวชทำให้ไปเกิดเป็นเทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ วันหนึ่งคิดถึงเพื่อนจึงแปลงกายเป็นชายมาหาฤษีอัลกัป ได้ทราบว่าช้างป่ามักมารบกวน จึงให้พิณวิเศษและสอนมนตร์ที่จะขับไล่หรือเรียกพญาช้างมาใช้ได้ วันหนึ่งอัลกัปได้พบพระอัครเทวีและพระกุมารก็สงสารรับมาดูแลประหนึ่งเป็นน้องสาว ต่อมาพระอัครเทวีคิดเกรงว่าตนและพระโอรสจะถูกทอดทิ้งคงต้องตายจึงทำมารยายั่วยวน พระอัลกัปจึงลุ่มหลงนางจนละเลยการถือศีลภาวนา
พระอัลกัปได้สั่งสอนการใช้อาวุธและวิชาพิณแก่อุเทนกุมาร วันหนึ่งสังเกตเห็นดาวประจำเมืองโกสัมพีมัวหมอง ทราบว่าพระเจ้าปรันตปะจะสิ้นพระชนม์จึงบอกแก่พระอัครเทวี พระอัครเทวีจึงให้อุเทนกุมารกลับไปกรุงโกสัมพีโดยนำผ้ากัมพลและพระธำมรงค์ของพระเจ้าปรันตปะไปด้วย พระอุเทนบรรเลงพิณและอ่านมนตร์เรียกพญาช้าง 10 ตระกูลร่วมเดินทางไปด้วย 7 วันก็ถึงกรุงโกสัมพี พระบิดาทราบว่าเป็นพระโอรสก็มอบราชสมบัติให้ ปกครองบ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขต่อมา
ในกรุงโกสัมพี มีเศรษฐีผู้หนึ่งนาม โฆสกเศรษฐี ไร้บุตรธิดา ได้ตั้งโรงทานเลี้ยงดูผู้ยากไร้ ให้มิตกฎุมพีเป็นผู้ดูแล เศรษฐีมีสหายอยู่ต่างเมืองชื่อภรรทวดีพราหมณ์ เมืองของภรรทวดีเกิดอหิวาต์ระบาดผู้คนล้มตาย ภรรทวดีจึงพาภรรยาและบุตรสาวชื่อสามาเดินทางมาขอความช่วยเหลือจากโฆสกเศรษฐี ได้มาอาศัยที่ศาลาริมโรงทานและให้นางสามาบุตรสาวถือภาชนะไปขออาหารจากโรงทานนั้น นางขอมาสามส่วนเพียงพอสำหรับบิดามารดาและตนเองรับประทาน และให้บิดากินก่อน ด้วยความหิวโหยภรรทวดีพราหมณ์กินอาหารเข้าไปจนหมดไม่เหลือเผื่อภรรยาและธิดา เกิดอาการท้องอืดถึงแก่ความตาย วันรุ่งขึ้นนางสามาไปขออาหารเพียงสองส่วนสำหรับสองคนและนำมาให้มารดากินก่อน มารดานางสามาบริโภคอาหารเข้าไปจนหมดและเกิดแน่นท้องตายตามสามีไปอีกคน วันรุ่งขึ้นนางไปขออาหารเพียงส่วนเดียวสำหรับตัวเอง มิตกฎุมพีโกรธเข้าใจว่านางโลภ ขออาหารไปทิ้งขว้างจึงด่าว่าด้วยคำหยาบ นางสามาบอกเล่าความจริงให้ฟัง มิตกฎุมพีสงสารรับนางเป็นธิดา ที่โรงทานมีเสียงอื้ออึงหนวกหู นางสามาคิดแก้ไขให้โรงทานมีทางเข้าออกอย่างเป็นระเบียบ มิตกฎุมพีเอ็นดูนางตั้งชื่อว่าสามาวดี
ต่อมาโฆสกเศรษฐีเห็นโรงทานไม่วุ่นวายดังก่อน ทราบว่าเป็นด้วยปัญญาของนางสามาวดีผู้เป็นธิดากำพร้าของสหายตน ก็รับนางเป็นธิดาและเลี้ยงดูรักใคร่ยิ่งนัก
วันหนึ่งเป็นวันนักขัตฤกษ์ นางสามาวดีไปอาบน้ำที่แม่น้ำตามประเพณี พระเจ้าอุเทนผ่านมาพบเข้านึกรักจึงส่งคนไปสู่ขอต่อโฆสกเศรษฐีสามีภรรยา ทั้งสองมีความรักอาลัยในบุตรสาวจึงตอบปฏิเสธอ้างว่านางเป็นสาวบ้านนอกไม่คู่ควร พระเจ้าอุเทนทรงกริ้วสั่งให้ยึดบ้าน ริบทรัพย์ และขับไล่สองสามีภรรยา เมื่อนางสามาวดีทราบความจริงจึงบอกให้บิดาว่าให้ยกตนให้แก่พระเจ้าอุเทน นางจึงได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน
พระเจ้าจัณฑปัชโชติผู้ครองกรุงอุชเชนีทราบว่าพระเจ้าอุเทนมีพิณและมนตร์วิเศษก็อยากได้คิดอุบายทำช้างยนต์เป็นช้างเผือกมีกลไกและผู้ควบคุมอยู่ภายในมาล่อ ณ ชายแดนเมืองโกสัมพี พระเจ้าอุเทนทราบข่าวก็ยกพลไปคล้องช้าง แต่ไม่ว่าจะทรงใช้มนตร์พิณอย่างไรก็ไม่สามารถจับช้างเผือกยนต์นั้นได้ ช้างยนต์ล่อพระองค์จนพลัดหลงกับผู้ติดตาม ในที่สุดทรงถูกทัพของพระเจ้าจัณฑปัชโชติซึ่งซุ่มอยู่จับได้และนำไปคุมขังไว้ พระเจ้าจัณฑปัชโชติบังคับให้พระเจ้าอุเทนสอนมนตร์พิณ พระเจ้าอุเทนบอกให้พระจัณฑปัชโชติรับตนเป็นครูเสียก่อนตามประเพณี พระเจ้าจัณฑปัชโชติจึงออกอุบายส่งนางวาสุทัตพระธิดามาเรียนแทน แต่เกรงว่าจะรักกันจึงให้มีม่านกั้นและบอกกับพระเจ้าอุเทนว่าให้สอนหนังสือหญิงค่อม บอกพระธิดาว่าให้ไปเรียนกับอาจารย์ที่เป็นโรคเรื้อน วันหนึ่งวาสุทัตเรียนมนตร์ไม่เข้าใจ พระเจ้าอุเทนจึงต่อว่า นางวาสุทัตโกรธเปิดม่านขึ้น ครั้นพบหน้าก็เกิดความรักต่อกัน ที่สุดลักลอบได้เสียกันและทำอุบายพากันหนีกลับเมืองโกสัมพี
ต่อมาจุฬมาคัณฑิยพราหมณ์ได้นำหลานสาวชื่อนางมาคัณฑีย์มาถวาย ทรงรับไว้และตั้งเป็นพระมเหสีรักใคร่เสมอกันสามองค์ มีนางค่อมขุชุตราเป็นพนักงานดอกไม้ นางค่อมคิดละโมบยักยอกทรัพย์กึ่งหนึ่งทุกวันไป วันหนึ่งได้ฟังธรรมจากพระปัจเจกพุทธเจ้าบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน จึงซื้อดอกไม้ถวายเต็มจำนวนเงิน พระนางสามาวดีสอบถามทราบความ ได้ขอฟังธรรมจากนางค่อม รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาจึงตั้งนางเป็นอาจารย์จากนั้นนางสามาวดีและนางกำนัลต่างก็ฟังธรรมที่นางค่อมได้ถ่ายทอดจากพระพุทธองค์ นางค่อมให้นางสามาวดีเฝ้าพระพุทธองค์ทางหน้าต่างเมื่อเสด็จมาบิณฑบาตทุกเช้า
พระนางมาคัณฑีย์มีความพยาบาทพระพุทธองค์ เพราะเดิมบิดานางคิดจะยกให้เป็นชายาพระพุทธองค์ แต่ทรงปฏิเสธ พระนางทำอุบายต่าง ๆ จนในที่สุดให้หางูพิษไปใส่ไว้ในพิณของพระเจ้าอุเทนซึ่งเก็บไว้ที่ตำหนักพระนางสามาวดี พระเจ้าอุเทนกริ้วว่าพระนางสามาวดีจะปลงพระชนม์ จึงสั่งให้ประหารด้วยศร นางสามาวดีตั้งสติมั่นอยู่ในธรรมและขออโหสิให้แก่ทุกคน ด้วยบุญของนางลูกศรเวียนประทักษิณสามรอบแล้วพุ่งตรงจะสังหารพระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนต้องขอโทษและขอให้นางสามาวดีช่วย นางออกปากให้อภัย ลูกศรนั้นจึงตกอยู่แทบพื้นดิน จากนั้นนางสามาวดีขออนุญาตนิมนต์พระพุทธองค์และพระพุทธสาวกมาฉันท์ภัตตาหารในพระราชวังเป็นนิจ
อิศรานุภาพ (อ้น), พระยา. อุเทนคำฉันท์. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2470. (แจกในการกฐินพระราชทาน มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิฑูรพยุหศรุตาบดี