พระยาชมพูบดีเป็นกษัตริย์ที่มีบุญญาธิการ มีฤทธิ์เพราะมีศรวิเศษปราบได้ทั่วหล้า ด้วยพลังอำนาจนี้ทำให้พระยาชมพูบดีถือตนว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ทุกพระองค์ในชมพูทวีป ครั้งหนึ่งพระยาชมพูเหาะผ่านปราสาทของพระเจ้าพิมพิสาร เห็นแสงของปราสาทส่องสว่างก็ไม่พอพระทัย ใช้พระบาทถีบยอดปราสาท แต่ก็ไม่อาจทำอันตรายยอดปราสาทได้เพราะอำนาจพระพุทธคุณที่คุ้มครองปราสาท แม้พระขรรค์ก็ไม่อาจทำลายยอดปราสาทได้ เมื่อพระยาชมพูกลับมาถึงเมืองจึงใช้ศรวิเศษไปเสียบพระกรรณของพระเจ้าพิมพิสาร
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสารเห็นพระยาชมพูพยายามทำลายยอดปราสาทก็เกิดความกลัว หนีไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ศรของพระยาชมพูตามพระเจ้าพิมพิสารมายังเชตวันวิหาร พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตจักรขับไล่ศรของพระยาชมพู พระยาชมพูกริ้ว สั่งให้ฉลองพระบาทไปจับตัวพระเจ้าพิมพิสาร ฉลองพระบาทแปลงเป็นนาคราชไปยังเชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าบันดาลพญาครุฑไล่จับนาค นาคก็ชำแรกดินหนีกลับไปหาพระยาชมพู พระพุทธเจ้าให้พระอินทร์ไปเชิญพระยาชมพูมาเฝ้า พระยาชมพูดื้อดึง พระอินทร์ปราบพยศพระยาชมพูและบังคับให้พระยาชมพูมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าให้สามเณรอรหันต์นำพระยาชมพูเข้ามาในเมือง พระยาชมพูและเหล่าอำมาตย์ไม่เคยเห็นเมืองที่มั่งคั่งและประชาชนที่งดงามดังเทวดา ก็ละอายยอมละทิฐิ ยอมออกบวชเป็นภิกษุ นางกาญจเทวีชายากับโอรสของพระยาชมพูได้ฟังเทศนาของพระพุทธเจ้าก็เกิดความเลื่อมใสออกผนวช สุดท้ายทุกคนก็สำเร็จอรหันตผล
ฉันท์เรื่องท้าวมหาชมภู ประพันธ์โดย หลวงราชเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย บุณยัษฐิติ). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2473. (พระวรวุฒิวินิจฉัยและนายประกอบ บุณยัษฐิติ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท หลวงเสนาราชภักดีศรีสงคราม (เกี้ย บุณยัษฐิติ) ณ วัดใหม่ จังหวัดจันทบุรี วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2473)