เนื้อเรื่องทวาทศราศีเริ่มตั้งแต่โคลงบทที่ 29 ที่เกริ่นให้ทราบว่าผู้แต่งจะพรรณนาความตามลำดับการโคจรของดวงอาทิตย์ที่ผ่านราศีหนึ่งแล้วย้ายไปอีกราศีหนึ่ง กล่าวถึงธรรมชาติ ลักษณะของอากาศและสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นๆ ผสมผสานกับการรำพันความในใจของกวีที่ทุกข์โศก เฝ้าแต่คิดถึงนางอันเป็นที่รักซึ่งจากไป นับตั้งแต่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีมีน ที่อากาศเริ่มร้อน น้ำลดและหมดฝน เมื่อเข้าสู่ราศีเมษน้ำในหนองบึงต่างๆ ก็เหือดแห้ง ทุกหนแห่งต้องการน้ำแต่ก็ขาดฝน “พรรณพิรุณหล้าแล้ง ทั่วสถาน” กวีเปรียบปลาที่คอยฝนเหมือนตนเองที่คอยนาง ดวงอาทิตย์ผ่านเข้าสู่ราศีพฤษภ และราศีเมถุน กวีก็ยังคร่ำครวญถึงสตรีอันเป็นที่รักอยู่ไม่สร่างซา หน้าฝนเริ่มขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีกรกฏความร้อนคลายลง เกิดฟ้าแลบฟ้าร้องตามธรรมชาติ กวีก็กล่าวถึงความเชื่อเรื่องรามสูรและเมขลา
ตอนท้ายบอกนามผู้แต่ง ช่วงเวลาที่แต่ง ทั้งเชิญให้กวีอื่นๆ ช่วยปรับแก้และขอให้ผลงานนี้อยู่ยั่งยืนไปตราบชั่วฟ้าดินสลาย
ทวาทศราศีที่กล่าวถึงการย้ายราศีของดวงอาทิตย์ไปแต่ละราศีนั้นก็คือเวลาที่ผ่านไปในแต่ละเดือน 12 ราศีก็คือ 12 เดือนนั้นเอง นิราศเรื่องนี้จึงเป็นการรำพึงรำพันไปตามอารมณ์ ความรู้สึกในแต่ละเดือนไปจนจบปี