เนาวพยัตติเริ่มต้นด้วยบทนมัสการพระรัตนตรัย จากนั้นจึงกล่าวถึงการเกิดของสัตว์ตามกุศลและอกุศล โดยสัตว์โลกจะอาศัยพยัตติ หรือความเฉลียวฉลาดเป็นเครื่อง “ตกแต่งบุคคลทั้งปวง “ซึ่ง “คนย่อมจะได้ประโยชน์เป็นที่เลี้ยงชีพแห่งอาตมะ” จากพยัตติของตน พยัตติของมนุษย์มี 9 ประการประกอบด้วย
1. จาเรพยัตติ คือการฉลาดในความเพียร ไม่ประมาททั้งในโลกนี้และโลกหน้า
2. โยคพยัตติ คือการฉลาดในการบำรุงดูแลสิ่งต่างๆ สำหรับพระราชานั้นควรประกอบด้วย โยคพยัตติ 4 ประการคือ
2.1 โยคศรี คือ การบำรุงบ้านเมืองให้สะอาดสวยงาม บำรุงเทวดา และช่างฝีมือ
2.2 โยคพล คือ การบำรุงมุขมนตรีอำมาตย์ พ่อค้าต่างๆ
2.3 โยคเสนางค์ การบำรุงทหารทั้งสี่เหล่า
2.4 โยคยาตรา การบำรุงเหล่าสมณพราหมณ์ผู้ทำพิธีตลอดจนผู้คนในกระบวนเสด็จ
3. โมเจรพยัตติ คือการฉลาดในการระวัง มีสติเท่าทันภัยอันตรายและเมื่อตกในเหตุร้ายก็มีปัญญาแก้ไขเหตุร้าย ตัวอย่างเช่น พญาเนื้อที่รู้เท่าทันนายพรานบนต้นสะคร้อทำให้ตนและบริวารรอดภัยอันตราย และพระโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นราชกุมารติดกับของยักษ์ร้าย แต่ก็ใช้ปัญญาเอาตัวรอดมาได้
4. ฉายาพยัตติ คือการฉลาดเท่าทันเรื่องทางโลก เช่นการร้องรำและการเจรจา
5. ธาราพยัตติ คือการฉลาดในการนับคะเน มาตราวัดต่างๆ ตลอดจนศาสตร์พยากรณ์
6. สัลวพยัตติ คือการฉลาดในการสมาคมกับผู้อื่น ทั้งคนใกล้และไกลเพื่อประโยชน์ของตน
7. เลหเลหาพยัตติ คือการฉลาดในความเพียร ไม่ประมาทและรู้จักการปรนผ่อนตามสถานการณ์
8. สุจิลาภพยัตติ คือการฉลาดในปัญญาเล่ห์กลเพื่อทำการให้สำเร็จ เหมือนเรื่องกระต่ายหลอกสังหารราชสีห์ มโหสถลวงไกรวัตพราหมณ์ และเรื่องพระยาพุกามใช้กลศึกทำลายเมืองพระเจ้าสะเทิม
9. สันนิกพยัตติ คือการฉลาดในการตกแต่งเพื่อให้เป็นที่จำเริญตาจำเริญใจแก่ผู้อื่น
เนาวพยัตติเป็นวรรณคดีพุทธศาสนา แต่งเป็นร้อยแก้ว ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง ต้นฉบับเป็นสมุดไทยฉบับหลวงคัดลอกในสมัยรัชกาลที่ 1 มีบานแพนกระบุว่า นายบุญคงอาลักษณ์เป็นผู้คัดลอก ขุนสารประเสริฐและนายชำนาญอักษรเป็นผู้สอบทาน เมื่อวันจันทร์ เดือนเจ็ด ขึ้นเก้าค่ำ จุลศักราช 1144 ซึ่งตรงกับพ.ศ. 2325 ซึ่งเป็นปีแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช