รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
เนื้อเรื่องย่อ
พรหมจันทร์กับนางพราหมณีเป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองไพศาลี ต่อมาเกิดอาเพศ ครอบครัวของเศรษฐียากจนลง พรหมจันทร์จึงลวงบุตรสาวทั้ง 12 คนไปปล่อยป่า พวกนางเดินทางไปจนพบนางยักษ์สารตราเจ้าเมืองทานตะวัน (บางสำนวนว่าตะวัน) และได้เป็นธิดาบุญธรรม ต่อมาพวกนางรู้ว่านางสารตราเป็นยักษ์จึงชวนกันหนี แล้วได้อภิเษกกับท้าวรถสิทธิ์ (บางสำนวนว่ารถยสิทธิ์ หรือยาสิทธิ์) เจ้าเมืองขีดขิน นางยักษ์ตามหาพวกนางจนพบ ร่ายมนตร์ให้ท้าวรถสิทธิ์หลงใหล แล้วทำอุบายว่าป่วย ขอให้ควักดวงตาของนางสิบสองมาเป็นโอสถ แล้วขับพวกนางซึ่งทรงครรภ์อยู่ออกจากเมืองไป
นางเภาน้องสุดท้องในกลุ่มนางสิบสองประสูติโอรสชื่อรถเสน เมื่อเจริญวัยรถเสนได้พบพระบิดา นางสารตราต้องการกำจัดรถเสนจึงให้เป็นผู้ถือสารไปขอหมากงั่วและหมากนาวที่เมืองทานตะวัน ระหว่างทางฤๅษีกุศลช่วยแปลงสารให้รถเสนได้อภิเษกกับนางเมรีธิดาบุญธรรมของนางสารตรา หลังจากรถเสนเก็บผลหมากงั่วและหมากนาวได้แล้วก็มอมเหล้านางเมรี ขโมยของวิเศษ ศรกำพต พร้อมทั้งห่อดวงตานางสิบสองหนีไป รถเสนต่อสู้กับนางยักษ์สารตราแล้วสังหารนางได้
รถเสนกลับไปหานางเมรี เมื่อพบว่านางตายแล้วก็เสียใจจนสลบไป (บางสำนวนว่านางเมรียังไม่ตาย เมื่อรถเสนกลับไปหา นางเมรีบอกให้รถเสนไปอภิเษกกับนางทัศนารีขนิษฐาของนางซึ่งอยู่ที่เมืองกำพุช หรือสังกัศแล้วนางจึงสิ้นใจ) ฝ่ายนางเมรีซึ่งไปเกิดเป็นเทพบุตรได้ช่วยให้รถเสนฟื้น แล้วบอกให้ไปครองคู่กับทัศนารีฝาแฝดของนางที่เมืองกำพุช (บางสำนวนว่า สังกัศ หรือสังกัด) ของท้าวประทุมราช (บางสำนวนว่าสันนุราช) รถเสนจึงได้นางทัศนารีเป็นชายา กระทั่งนางวรทาศรีพี่เลี้ยงของนางทัศนารีไปทูลฟ้องท้าวประทุมราช รถเสนจึงถูกจับขังไว้ ม้าทรงของรถเสนไปแจ้งแก่พระฤๅษี พระฤๅษีจึงเดินทางมาช่วยรถเสนไว้ได้
บทละครเรื่องพระรถเมรีมีการใช้ภาพพจน์ประเภทการกล่าวอ้างถึงจากวรรณคดีสำคัญหลายเรื่อง เช่น นางมโนห์รา พระลอ อุณรุท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ทำให้รู้ที่มาของศรกำพตอาวุธวิเศษประจำเมืองทานตะวันว่าเป็นศรพรหมาสตร์ของพระรามแห่งกรุงอยุธยา และหลังจากพระรามสิ้นพระชนม์แล้ว พระโอรสและพระนัดดาของพระรามได้สืบราชสมบัติต่อกันมาอย่างราบรื่น เพราะเหล่าศัตรูเกรงกลัวฤทธิ์ศรพรหมาสตร์ ครั้นเวลาผ่านไปวงศ์ของพระนารายณ์และเหล่าพานรินทร์เสื่อมถอย ท้าวโกมิตเจ้าเมืองทานตะวันจึงไปลักศรพรหมมาสตร์มาแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นศรกำพต ศรนี้สืบทอดต่อกันมาจนท้ายที่สุดอยู่ในความครอบครองของนางยักษ์สารตรา กล่าวได้ว่าบทละครเรื่องพระรถเมรีนอกจากจะมีเนื้อเรื่องสนุกสนานชวนอ่านแล้ว ยังนำวรรณคดีเรื่องอื่นๆ มาผสมผสานและเชื่อมโยงเข้ากับเนื้อหาของเรื่องได้อย่างลงตัวอีกด้วย
วัตถุประสงค์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. “บทละครเรื่องพระรถเมรี” ใน ประชุมเรื่องพระรถ. กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2552.
คำสำคัญ
พรหมจันทร์ , พราหมณี , เมืองไพศาลี , นาง 12 , นางสิบสอง , บุตรสาว , นางยักษ์ , ยักษ์สารตรา , เมืองทานตะวัน , เมืองตะวัน , ท้าวรถสิทธิ์ , ควักดวงตา , รถเสน , เมรี , ทัศนารี , เมืองกำพุช , ท้าวประทุมราช
หมายเหตุ
บทละครเรื่องพระรถเมรีเป็นวรรณคดีที่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งในสมัยใด แต่มีผู้สันนิษฐานว่าเรื่องพระรถเมรีคงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมานานแล้วดังปรากฏเป็นคำประพันธ์รูปแบบต่างๆ เช่น กาพย์ขับไม้ กลอนอ่าน กลอนนิราศ คำฉันท์ ฯลฯ ในส่วนของบทละครสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าคงจะมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ไม่ทรงแน่พระทัยว่าจะเป็นละครในสมัยอยุธยา ธนบุรี หรือสมัยรัชกาลที่ 1