รหัสข้อมูล
ชื่อเรื่องหลัก
ยุคสมัย
ผู้แต่ง
คำประพันธ์
เนื้อเรื่องย่อ
พระสมุทโอรสท้าวกาณุราชท่องเที่ยวหลงเข้าไปในอุทยานของท้าวรณจักร ได้เห็นนางบุษมาลีธิดาเลี้ยงของท้าวรณจักรก็นึกรักจึงอุ้มนางเหาะไป แล้วได้นางเป็นชายา ขณะที่ทั้งสองหลับอยู่บนยอดเขา ขุนยักษ์ไวยการเหาะผ่านมาพบ ร่ายเวทให้ทั้งสองหลับ แล้วนำคทากับเกือกแก้วของพระสมุทไปซ่อน จากนั้นคลายมนตร์ให้นางบุษมาลีฟื้นแล้วเกี้ยวนาง นางทำอุบายหลอกเอาของวิเศษทั้งสองคืนมาได้แล้วสังหารไวยการ เมื่อพระสมุทฟื้นขึ้นก็พานางบุษมาลีเหาะต่อไป ท้าวรณจักรตามมารบเพื่อชิงนางคืน แต่พระสมุทพานางหนีไปได้ เมื่อท้าวกาณุราชซึ่งออกติดตามหาพระสมุทมาพบ ก็ช่วยเจรจาให้ท้าวรณจักรยกนางบุษมาลีให้ แต่ท้าวรณจักรไม่ยอม จึงต้องต่อสู้กัน สุดท้ายท้าวรณจักรก็ถูกสังหาร
บทละครเรื่องพระสมุทมีการนำเสนอที่น่าสนใจคือเปิดโอกาสให้นางบุษมาลีซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สังหารตัวละครฝ่ายร้ายคือขุนยักษ์ไวยการ นางใช้มารยาหญิงลวงไวยการจนได้ของวิเศษคืนมาและตั้งใจไว้แต่ต้นว่า “อันอสุราตนนี้ กูจะล้างชีวีให้จงได้ ด้วยคทาศักดิ์สิทธิ์ฤทธิไกร จะเป็นไรก็ตามแต่เวรา” ทั้งยังออกอุบายขอให้ขุนยักษ์พาเดินเท้าแทนการเหาะเพื่อจะได้แอบย้อนกลับไปหาสวามีได้ เมื่อไวยการติดตามมา นางก็ตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรงจนไวยการโกรธ แม้จะกลัวมากแต่นางบุษมาลีก็ใช้ “สองหัตถ์ทรงคทาเงื้อง่า หลับเนตรตีต้องอสุรา” ทำให้ขุนยักษ์ไวยการสิ้นชีวิต นางบุษมาลีจึงเป็นตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญไม่แพ้บุรุษ ทั้งยังเป็นผู้ปกป้องพระสมุทซึ่งเป็นตัวละครเอกฝ่ายชายไว้ได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์
ผู้เรียบเรียง
เอกสารอ้างอิง
กรมศิลปากร. พระบวรราชนิพนธ์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2545.
คำสำคัญ